ผู้เปลี่ยนทุกพื้นที่บนโลกให้เป็นสนามกอล์ฟที่สวย และเล่นสนุก

เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

15 Feb 2017
  • Shares:

พิรพน นะมาตร์ โอ๊ป

 

     ผมได้ยินชื่อสนามกอล์ฟบางไทรครั้งแรก ตอนเรียนจบวิศวะใหม่ๆ และเพิ่งเล่นกอล์ฟไม่นาน ได้ยินจากรายการทีวีของคุณพิศณุ นิลกลัด ได้ยินมาตลอดว่า สนามกอล์ฟนี้ออกแบบโดยเด็กหนุ่มอายุ 24 ปี ในตอนนั้นทำให้ผมสงสัยมาตลอดว่า ตอนนนั้นเขาเริ่มงานอย่างไร จากคนที่ไม่มีประสบการณ์สร้างสนามกอล์ฟ สามารถสร้างสนามกอล์ฟบางไทร ให้นักกอล์ฟทุกคนชื่นชมในการออกแบบที่มีสไตล์เป็นของตัวเองได้

     ตอนที่มาทำนิตยสารกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ผมมีโอกาสเจอคุณพิรพน นะมาตร์ หรือคุณโอ๊ป เด็กหนุ่มวัย 24 ที่ผมได้ยินชื่อมานาน เจอครั้งแรกก็ประทับใจในความเป็นวิศวกรตัวจริงของพี่โอ๊ป ยิ่งมารู้ว่าพี่โอ๊ปอดีตเคยเป็นนักวิ่งขาแรง สถิติ 10 กม. ใช้เวลา30 กว่านาที ยิ่งทำให้ผมนับถือในการใช้ชีวิตของพี่โอ๊ป เมื่อปีที่แล้ว ผมมีโอกาสนั่งคุยกับพี่โอ๊ปแบบไม่เร่งรีบมากนัก ที่สนามกอล์ฟบางไทร เลยได้โอกาสถามในสิ่งที่ผมอยากรู้มาตลอดชีวิตการเล่นกอล์ฟ

1.พี่เรียนจบด้านไหน

(ระหว่างเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต คุณโอ๊ปเรียกแทนตัวเองว่าพี่มาตลอด เพราะในฐานะที่เราเรียนจบมาฟิลด์เดียวกันคือ วิศวกรโยธา และเป็นนักวิ่งเหมือนกัน การสนทนาจึงเป็นไปในบรรยากาศ "พี่สอนน้อง" แต่ในบทความนี้ ผมของเปลี่ยนสรรพนามเป็นคำว่า ผม ละกัน ครับ)  

     ผมไปเมืองนอกตั้งแต่ตอนม.1 ไปเรียนอยู่จนจบโยธา ปริญญาโทที่นั่น ตอนนั้นน่าจะยุคราว 80-90 ช่วงนั้นกอล์ฟในไทยเริ่มบูมแล้ว สนามดังๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ยุคนั้นก็มี สนามปัญญา ชลบุรี (ชื่อตอนนั้น ตอนนี้ชื่อ คริสตัล เบย์ กอล์ฟคลับ) สนาม กรีน วัลเล่ย์  

2.อยากรู้แบ็คกราวด์ว่า อะไรที่ทำให้สามารถเนรมิตรบางไทรให้กำเนิดขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่มีประสบการณ์เลย

     จริงๆ แล้วคุณพ่อกับคุณแม่ของผม เป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ เป็นครูอยู่ที่จุฬา ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกอล์ฟเลย แต่อาศัยว่าผมเล่นกอล์ฟตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพราะคุณพ่อชอบเล่นกอล์ฟ  ตอนเด็กๆ ที่เล่นสนามในเมืองไทยแทบไม่มีเลย  จะมีก็แค่ สปอร์ตคลับ หัวหมาก 1 หัวหมาก 2 สมัยนี้คนคงไม่รู้จัก จริงๆ แล้ว หัวหมาก 1 ก็คือ สนามกรุงเทพกรีฑา ในปัจจุบัน ส่วน หัวหมาก 2 ก็ ยูนิโก้ ไง  ผมเล่นกอล์ฟมาก็ 40 กว่าปีแล้ว ตอนนั้นถ้าไปต่างจังหวัด ก็จะขับรถไปเล่นกันที่ บางพระ สยามคันทรีคลับ โอล์ดคอร์ส ช่วงนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เลย

     ช่วงกอล์ฟในไทยบูม ตอนผมอายุ 15 หรือ 16 ปีนี่แหละ มีโอกาสกลับมาดูงานสนามกอล์ฟที่เมืองไทย  ความที่ผมมีความสนใจในงานก่อสร้างอยู่แล้ว จึงชอบ ผมชอบอยู่เอาท์ดอร์ ช่วงที่ก่อสร้างสนามปัญญารีสอร์ท ที่ชลบุรี ผมมีโอกาสไปคลุกอยู่ที่นั่น 2-3 เดือน มีโอกาสได้คุยกับฝรั่ง เพราะตอนนั้นภาษาอังกฤษเราพอได้แล้ว เลยคุยกับเค้ารู้เรื่อง ฝรั่งที่ไปคุยเป็นเชพเปอร์ Shaper  คนขับรถแทรกเตอร์ ซึ่งมีหน้าที่ปรับแต่งเนินดิน ต่างๆ ในสนามกอล์ฟกอล์ฟให้มีรูปร่าง รูปทรง ยุคนั้น อาชีพพวกนี้ รายได้ดีมาก เงินเดือน หลายแสน

 

     และจริงๆ แล้ว สนามจะสวยหรือไม่สวย อยู่ที่คนๆ นี้เลย เชพเปอร์  คนๆ นี้ต้องเข้าใจเกมกอล์ฟ ต้องเข้าใจระบบระบายน้ำ  ตาต้องมีศิลปะ รู้ว่าอะไรจะสวย ไม่สวย สนามจะเล่นสนุก หรือสวย ต้องคนพวกนี้ครับ " เชพเปอร์ " 

     ตอนนั้นก็เลยได้สัมผัสและสนใจ แต่ยอมรับว่าไม่ได้คิดว่าวันนึงจะต้องมาทำสนามกอล์ฟ แค่เป็นคนชอบงานก่อสร้าง ชอบงานเอ้าท์ดอร์

3.แล้วจับพลัดจับผลูยังไง ถึงได้มาทำสนามกอล์ฟ

    คือตอนนั้นสนามกอล์ฟไทยมันบูม คุณแม่พี่ก็เห็นว่ามันมีโอกาสสร้างเป็นธุรกิจได้ เพราะอยู่ในช่วงที่บูม ตอนที่ลงมือก่อสร้าง บังเอิญว่า สถาปนิกที่เค้าดูงานอยู่ ยกเลิก เราก็เลยจับพลัดจับผลูลงมาทำเอง โดยที่ตอนแรกก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย นั่นแหละก็เลยเข้ามามีโอกาสได้มาทำสนามกอล์ฟ

4.หลังจากรู้แล้วว่า ต้องมาทำสนามกอล์ฟ เริ่มงานยังไง เริ่มตรงไหนก่อน

     ก็ทำตามขั้นตอนของงานโยธา สำรวจพื้นที่ สูงต่ำ ขอบเขต เริ่มวางเลย์เอาท์สนาม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หาทีมเก่งๆ มาช่วย  ทุกวันนี้เวลาผมสร้างสนามกอล์ฟก็ต้องมีทีม มันเป็นงานที่ไม่สามารถทำงานคนเดียวแบบวันแมนโชว์ได้

     ในขั้นตอนการออกแบบก็วางมาสเตอร์แปลนไว้ แล้วมาปรับแต่งที่หน้างานอีกที หนึ่ง งานสนามกอล์ฟ มันคืองานปั้น เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาก่อสร้าง เราต้องมาดูด้วยตา แล้วปรับแต่งงานปั้นให้ดูแล้วเข้าตา ซึ่งมันอาจจะแตกต่างผิดออกไปจากมาสเตอร์แปลนเป็นเรื่องปกติ

5.รู้ได้ยังไง ว่าจะเอาอะไรไว้ตรงไหน ทั้งๆ ที่ไม่เคยออกแบบสนามกอล์ฟมาเลย

     น่าจะมาจากประสบการณ์ตีกอล์ฟของผม ผมน่าจะตีมาแล้วมาเป็น 100 สนาม ก่อนที่จะมาสร้างสนามกอล์ฟบางไทร  มีโอกาสตีกอล์ฟในอเมริกาก็หลายสนามมาก ทุกวันนี้ก็ยังตระเวณตีกอล์ฟสนามใหม่ๆ ทั่วโลกเป็นประจำครับ

 

6.มีตำราที่ไว้อ้างอิง หรือใช้เปิดอ่านระหว่างออกแบบสนามกอล์ฟบางไทรมั้ยครับ

     จำไม่ได้ว่าตอนนั้นอ่านเล่มไหน แต่ผมมีหนังสือเกี่ยวกับสนามกอล์ฟเยอะมาก หลายร้อยเล่มน่าจะได้

7.เล่มไหนที่ชอบบ้าง

     Golden Edge of golf coures design เล่มนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในเล่มที่ผมคิดว่าดีที่สุด ส่วนตัวผมชอบอ่านหนังสือที่เป็นประวัติศาสตร์กอล์ฟมากกว่า

 

เล่มที่ดีที่สุดที่ถ้าใครสนใจอ่านจริงๆ นะ คือ  Spirit of St.Andrew เขียนโดย

     Alister MacKenzie และเขียนคำนิยามโดย บ๊อบบี้ โจนส์ นักกอล์ฟสมัครเล่นที่ดีที่สุดตลอดการ ตัว Mackenzie  เป็นหมอที่ชอบเล่นกอล์ฟ คนๆ นี้ เป็นคนดีไซน์สนามกอล์ฟออกัสต้า ที่ไว้ใช้แข่งเดอะ มาสเตอร์ส ออกแบบร่วมกับ บ๊อบบี้ โจนส์  

 

8.หลังจากผมเปิดด้านในหนังสือ Spirit of St.Andrew ดู ก็ตกใจ เป็นหนังสือที่ภาพน้อยมาก Text เกิน 80% จัดเป็นหนังสือที่อ่านยาก และไม่มีตัวเลขต่างๆ ไว้อ้างอิงสำหรับออกแบบเลย ผมเลยสอบถามความเห็นจากคุณโอ๊ปว่า จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คืออะไร

     หนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับการออกแบบสนามกอล์ฟเลย เป็นหนังสือเกี่ยวกับ ปรัชญา แนวคิด ในการออกแบบมากกว่า มันไม่ได้บอกมิติว่า แต่ละหลุม ควรกว้าง ยาว พื้นที่กรีนเท่าไหร่ มันเป็นปรัชญา และแนวคิดล้วนๆ

     ซึ่งทุกวันนี้ การออกแบบสนามกอล์ฟ ผมก็ไม่ได้ยึดติดมันว่า แต่ละหลุมต้องกว้างยาว เท่าไหร่ แฟร์เวย์ต้องกว้างแค่ไหน ผมยังใช้วิธีเขียนแบบฟรีแฮนด์ คือให้เขียนออกไปแล้ว เลย์เอาท์ได้สัดส่วน สวยงาม ไม่ได้ยึดติดตัวเลข หรือจับสเกลเป๊ะๆ

9.ทำสนามกอล์ฟบางไทรช่วงแรกๆ มีปัญหาอะไรบ้าง

     เรื่องแรกเลยคือ แถวๆ ที่บางไทร น้ำท่วมบ่อย น้ำท่วมทุกปี  ผมต้องสำรวจหาระดับน้ำสูงสุด ก็ใช้วิธีสอบถามกรมทางหลวง สอบถามชาวบ้าน แล้วก็สร้างคันรอบสนามกอล์ฟ ขุดบ่อ เพื่อมีที่เก็บน้ำ เอาดินมาปั้น ปั้นให้สวย ปั้นให้น้ำระบายได้ ในการทำให้น้ำระบายได้เร็ว  สโลปส่วนของสนามที่เป็นหญ้าควรจะ 3% เป็นอย่างน้อยเพื่อให้น้ำไหลได้ ถ้าน้อยกว่า 3% อาจไหลได้ แต่ไหลไปสักพักมันจะเริ่มหนืด ถ้าอยู่บนกรีน จุดเจาะหลุมควรมีสโลป 1-2%

 

     อีกเรื่องหนึ่งคือ พื้นที่บางไทร เป็นที่ราบ ที่แบนๆ ซึ่งทำสนามยาก ทุกอย่างต้องปั้นขึ้นมาทั้งหมด ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมด ผมให้ข้อมูลหนึ่งเป็นความรู้ไว้ครับ ที่ดินที่มีสโลป 5-10% ทั้งผืน เป็นที่ๆ ทำออกมาแล้ว สนามกอล์ฟจะสวยเป็นธรรมชาติ คล้ายๆ ที่สนามกอล์ฟบันยัน ที่หัวหิน ที่ดินเดิมๆ สโลปเฉลี่ย 5-10%

     แต่บนความยาก ก็มีเรื่องดีๆ อยู่ครับ ตอนที่สร้างบางไทร ผมมีทีมงานที่ดี มีเพื่อนร่วมทีมที่ดี แล้วก็มีพี่พิศณุ นิลกลัดที่ช่วยโปรโมทให้เราตลอด

     ช่วงแรกๆ เราตั้งราคากรีนฟีไว้โอเคด้วยครับ ถ้าจำกันได้ ช่วงแรกๆ  วันธรรมดา 320 วันหยุด 580  ช่วงนั้นคนที่เริ่มหัดเล่นกอล์ฟใหม่ๆ มาเล่นที่นี่กันเยอะ

 

10.เป็นสนามที่มี แซนด์ดูนที่แรกในไทย

     ใช่ครับ กอล์ฟออริจินัล มันมาจากลิ้งค์คอร์สที่สก๊อตแลนด์ มันเริ่มจาก แซนด์ดูน  คือ พื้นที่ลิ้งค์ คือพื้นที่ๆ ทรายๆ เป็นพื้นที่ๆ ปลูกอะไรไม่ได้ เป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของ ลิ้งค์คือพื้นที่ๆ อยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่เมือง กับ ชายหาด ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ของสาธารณะเลย คนก็เลยมาเลี้ยงแกะ เลี้ยงวัว ในพื้นที่นี้ เพราะมันเป็นทรายๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้   ตอนนั้นเด็กเลี้ยงแกะก็เอาไม้มาตีกันอะไรกัน ก็เลยกำเนิดขึ้นมาเป็นเกมกอล์ฟที่นั่น   แซนด์ดูน ก็คือ พื้นที่ทรายๆ นั่นเอง  

 

     ตอนที่ทำ แซนด์ดูน ต้องการทำอะไรที่แปลก มีเอกลักษณ์  เราไม่อยากเล่นกอล์ฟ 18 หลุมแล้วเหมือนกันหมด ต้องการให้คนจดจำเลย์เอาท์ของทั้ง 18 หลุม ได้ อาจจะจำได้ไม่หมด แต่ต้องจำได้มากที่สุด ให้แต่ละหลุมมีเอกลักษณ์

     แนวทางที่ผมใช้มาตลอดคือ ต้องการจุดสัก 2-3  จุด ที่ทุกคนจะจำได้ว่า กำลังไปถึงจุดนี้ของสนามแล้ว เมื่อกำลังเข้าถึงจุดนี้ จะจำได้ มันมีเอกลักษณ์ ผมอยากให้แต่ละมุมของสนาม มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง

11.ส่วนตัวชอบหลุมไหนที่สุดของบางไทร 18 หลุมแรก

      ผมหลุม 2 A เป็นหลุมที่ชอบมากที่สุด เพราะเป็นหลุมพาร์ 4 สั้น ผมว่ามันเป็นหลุมที่สนุกที่สุดแล้ว เพราะบุกได้ แต่ถ้าพลาด ก็โดน คนตีสั้นมีเกมของเค้า คนตียาว ก็มีเกมของตัวเอง คือ ต่างคนต่างมีเกมของตัวเอง แต่อาจเสริฟโดยเล็งไปกันคนละทาง หลุม 2 A คนที่ตีไกลก็จะเล็งขวา แต่ถ้าคนตีสั้นก็จะไปทางซ้าย ไม่มีอุปสรรคอะไร

 

12.ผมสังเกตว่าสนามที่พี่โอ๊ปออกแบบจะมีลายเซ็นต์เสมอ ทุกๆ ครั้งที่ไปสนามใหม่ๆ ขึ้นทีออฟแล้ว อึดอัด ว่าจะไปทางไหน ใช้ไม้อะไร ผมมักสันนิษฐานว่า นี่ฝีมือคุณโอ๊ป

     ใช่ครับ ผมมักสร้างสนามกอล์ฟ โดยเล่นกับคำว่า Risk & Reward ต้องมีตลอด

     อ่านประโยคนี้ดีๆ แล้วคิดตามนะครับ

 

     อุปสรรคที่ดีที่สุด ไม่มีไว้ลงโทษช็อตที่เลวร้าย แต่ลงโทษช็อตที่เกือบดี ลงโทษช็อตที่เค้าพลาดนิดเดียว

 

      เพราะคนที่เลวร้ายไปแล้ว เค้าไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว อย่าไปลงโทษเค้า อย่าไปลงโทษช็อตที่แย่ไปแล้ว  ปล่อยเค้าไป ให้ลงโทษ ช็อตที่เกือบดี

13.เคยคิดมั้ยว่าหลังสร้างบางไทรเสร็จ เราจะกลายเป็นนักสร้างสนามกอล์ฟที่มีคนรู้จักมากมายดังเช่นปัจจุบัน

     ตอนเสร็จบางไทร ก็ไม่ได้คิดว่า ทุกวันนี้จะมาไกลถึงตรงนี้ แต่ก็แอบหวังไว้บ้าง เพราะมันเป็นงานที่เรารัก

     ตอนทำบางไทรเสร็จ ก็ไม่คิดว่ามันจะดีมั้ย ใจก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ แต่พอคนเล่นแล้วสนุก เราก็เริ่มมั่นใจว่า เราทำได้!!!

     หลังบางไทรจบ  งานสนามกอล์ฟทุกอย่างเริ่มขาลง เงียบมากๆ  ผมกลับไปทำงานสะพาน และถนน ทำงานโยธาอยู่พักหนึ่ง ทำงานถนน สะพานอยู่ ปี สองปี

14.แล้วเราคัมแบ็คกลับมาอีกทียังไง

     งานที่ทำให้เรากลับมาได้อีกที คืองานที่อัลไพน์ ก่อนที่ไทเกอร์จะมา ต้องการที่จะ รีโนเวท กรีน หลังจากนั้นก็แข่ง จอห์นนี่ วอลเกอร์ คลาสสิค  ก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น

 

     แต่คนๆ เดียว ที่ทำให้เราคัมแบ็ค และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต อยู่ที่คนๆ เดียวจริงๆ ซึ่งเป็นคนที่ผมให้ความนับถือ มาจนถึงทุกวันนี้

     คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ที่ทำให้เรามีทุกวันนี้ จำได้ว่าตอนนั้นมีเพื่อนคนหนึ่ง พาเข้าไปพบคุณสันติ คุณสันติบอกว่า มีพื้นที่ๆ สมุยอยู่แปลงหนึ่ง อยากที่จะทำสนามกอล์ฟ    

     จุดเปลี่ยนของผมอยู่ตรงนี้เลยครับ " สมุย "

 

     คุณสันติเป็นคนที่สปอร์ตมาก สนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีฝีมือ ทุกวงการ ทั้งกีฬาทุกชนิด วงการอื่นๆ ก็ด้วย

 

     ที่ๆ สมุย มีอยู่ 2 พันกว่าไร่  มีพื้นที่ที่อยู่ในส่วนที่ไม่ชันมาก ไม่ใช่ภูเขา อยู่ราวๆ 700 ไร่ แต่ที่ๆ ราบๆ จริงๆ มีแค่ ไม่เกิน 300 ไร่  (โดยปกติพื้นที่ 500 ไร่ เป็นปริมาณพื้นที่ๆ กำลังทำสนามกอล์ฟสบาย)

     ครั้งแรกที่ไปสำรวจสนามไปกับคุณสันติ คนขับรถ ขับดูพื้นที่ทั้งหมด จำได้ตอนนั้นรู้สึกว่า มันเป็นเขาหมดเลย

     ผมวางเลย์เอาท์ครั้งแรก วางไว้ได้แค่ 9 หลุม ตอนนั้นขอให้คุณสันติ ซื้อเพิ่มอีก 200 กว่าไร่ เพื่อให้เพียงพอที่จะทำให้ครบ 18 หลุม แต่สุดท้ายไม่ได้ซื้อเพิ่ม

15.แล้วตอนนั้น ทำอย่างไร ถึงทำสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

     ตอนนั้น ใช้แผนที่ Topographic เดินอยู่หลายเดือน อย่างน้อยราว 3 เดือน เดินดูทุกวัน จำได้ว่าตอนนั้นชาวบ้านแถวนั้นยังงงอยู่เลย ว่าพ่อหนุ่มคนนี้ มาเดินในป่า ไม่พกปืน พกมีดไว้ป้องกันตัว จากสัตว์ป่าบ้างหรือไง  

 

(แผนที่ Topo จะเป็นแผนที่มุมสูง ไว้ดูข้อมูลต่างๆ ของภูมิประเทศของพื้นที่นั้นๆ เช่นที่ราบ ลาดชัน สิ่งก่อสร้าง บ่อน้ำ ลำธาร แม่น้ำเป็นต้น คุณโอ๊ปเล่าให้ฟังว่า ตอนดูแผนที่ Topo ของสมุย เส้นคอนทัวร์เต็มไปหมดเลย ถี่ยิบ แสดงถึงพื้นที่บริเวณนั้นเป็นภูเขาชันมาก สังเกตในรูปประกอบ พื้นที่ชันเส้นจะถี่ พื้นที่ราบ เส้นจะห่าง คุณโอ๊ปเล่าให้ฟังว่า ที่สมุย มีแต่เส้นถี่ๆ ทั่วพื้นที่เลย)  

      เหตุผลที่ต้องเดิน คือต้องการเห็นพื้นที่จริงๆ  เพราะลำพังดูแต่ในแบบแปลน มันไม่เห็นวิว มุมอื่นๆ  ไม่รู้ว่าวิว คืออะไร  ลงไปยืนในพื้นที่จริงแล้ว เราเห็น เราฟิลมันได้ เป็นยังไง และเราจะพอรู้เลยว่า ตรงนี้ทำเป็นหลุมได้มั้ย  ใน 700 ไร่ เดินดูมาแล้ว แทบทุกเหลี่ยมุม  ผมเดินดูจนสามารถทำแบบได้ 18 หลุม

 

16.ตอนนั้นเคยท้อมั้ย  

     ก็มีท้อนะ คือตอนแรก พื้นที่เท่านี้ มันไม่น่าจะทำได้ เหมือนกับ เราเคยใส่รองเท้าเบอร์ 10 แล้ว มาใส่ เบอร์ 7 มันฟิตมาก ยัดลงไปไม่ได้ ตอนนั้น ค่อยๆ เดินหาทีละหลุม แต่กอล์ฟมันเป็นโดมิโน่ มันต่อๆ กัน เช่นเราได้หลุมที่แล้วไปแล้ว แต่หลุมถัดไป ทำไม่ได้ มันก็กระทบกับหลุมก่อนหน้านั้น ที่วางเลย์เอาท์ไปแล้ว  ต้องกลับไปปรับเปลี่ยนหลุมก่อนหน้านั้น บิดหน่อย หรือย้ายตำแหน่งหน่อย ต้องมีการปรับ ไปๆ มาๆ จนสำเร็จ ต้องชักเข้า ชักออกตลอด ถ้าบิดหลุมนี้ ต้องไปบิดหลุมที่อยู่ติดกัน ให้สอดคล้องกัน กว่าที่จะได้เป็น สนามกอล์ฟสันติบุรี สมุย ทุกวันนี้

    แต่สมัยนี้อาจจะง่ายหน่อย เพราะวัฒนธรรมสนามกอล์ฟปัจจุบัน ทีออฟไม่จำเป็นต้องต่อกันใกล้ชิดมาก แบบสนามกอล์ฟสมัยก่อน สมัยนี้มันมีรถกอล์ฟใช้

     พูดถึงการใช้รถกอล์ฟ เราก็ต้องมีทางรถกอล์ฟ การดีไซน์ทางรถกอล์ฟเนี่ย เอาจริงๆ เลยนะ  มันทำให้หลุมดีๆ บางหลุมแย่ไปเลย เคยคิดว่า ถ้าหลุมนี้ ไม่มีรถกอล์ฟเลย์เอาท์จะดีและสวยกว่านี้มาก

     หลังจากได้แบบ 18 หลุม คิดเสร็จแล้ว เวลาไปทำจริง ก็มีปัญหา เช่นตรงนี้ ต้องการตัดดินสัก 3 เมตร เพื่อให้มันแฟลตลง แต่ถึงเวลาจริงๆ เป็นหินทำไม่ได้ ผมถึงบอกเสมอว่า สุดท้ายแล้ว ได้แบบมายังไง ก็ต้องมาปรับเอาที่หน้างานอีกครั้ง

     ถึงตรงนี้ อยากบอกความในใจ สำหรับนักกอล์ฟที่ไปเล่นที่สันติบุรี สมุย แล้วบ่นว่ายาก ถ้าใครเคยติว่า สนามกอล์ฟสันติบุรี สมุยมันยาก ผมอยากให้มาดูตอนที่ผมเดินสำรวจ เพื่อสร้างมันให้ครบ 18 หลุม ว่ามันยากขนาดไหน เอาตามตรงเลยครับ นี่ผมไม่ได้ทำให้มันยากนะ แต่ผมพยายามทำให้มันง่ายที่สุดแล้ว ผมไม่อยากทำให้มันยาก แต่พื้นที่ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นครับ มันมีเขา ๆ เป็นหิน และคุณสันติก็บอกไว้ว่า พยายามเก็บสภาพเดิมให้มากที่สุด  อย่างทราย เราก็ต้องส่งข้ามโป๊ะมา 

 

     หลังจากเสร็จที่สมุย ก็มาเริ่มงาน 9 หลุม ยูนิแลนด์ ทำให้ 9 หลุมให้คุณวิชัย คิง เพาเวอร์ แล้วก็มาทำที่บันยัน

 

17.เคยถามเหตุผลมั้ย ทำไมฝรั่งถึงเลือกคนไทยมาทำสนามกอล์ฟบันยัน 

     ผมไม่แน่ใจเรื่องการตัดสินใจของเขา แต่เท่าที่รู้คือ  เค้ารู้จักสันติบุรี สมุย แล้วเค้าก็ชอบ ในความเห็นผมฝรั่งเค้าไม่ได้ยึดติดฝรั่ง ไทย หรือ ชาติไหน  เค้าดูที่ผลงานที่ผ่านมามากกว่า

สันติบุรี ทำให้คนไทยรู้จัก บันยัน ทำให้คนต่างชาติรู้จัก

     ฝรั่งถามผมว่า หญ้าอะไร คือ หญ้าของที่นี่ ผมก็ตอบไปว่า คือ นวลน้อย ที่บันยัน ก็เลยใช้นวลน้อย

     หญ้านวลน้อย จริงๆ แล้ว คือ หญ้าที่ดูแลง่ายมาก คือ ถ้าคนดูแลไม่เป็นก็ดูแลง่าย สารเคมีน้อย ปุ๋ยน้อย มันไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง

     แต่ถ้าคนดูแลดีๆ  ดูแลถึงๆ ก็สามารถทำให้เป็นสุดยอดได้เลย

 

     คุณพ่อผมชอบมาก นวลน้อย นี่เหน่งๆ เลย เวลาลูกอยู่บนหญ้านวลน้อย จะลอยเหน่งเลย เพราะใบมันแข็ง ลูกมันเลยลอยเหมือนตั้งทีตีเลย

18.สมมุติว่ามีเด็กรุ่นใหม่ๆ อยากที่จะออกแบบสนามกอล์ฟเก่งๆ แบบคุณโอ๊ปบ้าง มีอะไรแนะนำบ้าง

 

     ผมว่าดีนะครับ หากเมืองไทยจะมีนักออกแบบสนามกอล์ฟที่เป็นรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา เพราะนักออกแบบตอนนี้ที่ทําๆกันมา ก็หกสิบเจ็ดสิบกันหมดแล้ว แล้วก็มารุ่นผม ห้าสิบแล้ว ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีนักออกแบบสนามกอล์ฟรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้แล้ว ผมคิดว่ายังไงสนามกอล์ฟก็ต้องมีการสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่ผมอยากจะแนะนําคือ คุณจะต้องมีการศึกษาและควรเรียนรู้ในหลายๆเรื่อง ทั้งในเรื่องก่อสร้าง เรียนรู้เรื่องการบํารุงรักษาหญ้า เรียนรู้เรื่องศิลปะรู้ว่าอะไรสวยอะไรไม่สวย และคุณต้องเป็นนักกอล์ฟที่รักกอล์ฟจริงๆ แล้วคุณจะเข้าใจคนที่เล่นกอล์ฟ ส่วนหนังสือผมแนะนําเล่มที่มีชื่อว่า World atlas of golf เป็นหนังสือที่รวบรวมสนามกอล์ฟที่สวยมีสไตล์ หลายสนามไว้ในเล่มครับ”

 

 ก่อนจบ ผมขอฝากไว้เรื่องหนึ่งครับ ผมไม่ชอบเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ออกแบบสนามกอล์ฟ แต่อยากให้คนรู้จักว่า เราเป็นผู้สร้างสนามกอล์ฟ งานจะออกมาได้ดีที่สุด คือ งานออกแบบและสร้างสนามกอล์ฟ  

 

 

 

คำถามแถม คำถามนี้ผมเคยฝากลูกน้องไปถามไว้นานแล้ว

     เราก็รู้ว่านักกอล์ฟสมัครเล่นชาวไทยมีคําๆหนึ่งที่ติดหู “9 กับ 18 เทอร์โบ” คุณเคยบอกว่าการออกแบบ 2 หลุมนี้ ไม่ควรออกแบบให้ยากเหมือนสนามกอล์ฟระดับแชมเปี้ยนชิพ แต่มันควรออกแบบให้นักกอล์ฟทุกคนมาลุ้นกันเอาที่พัตต์สุดท้าย เพราะอะไรครับ

     การตีกอล์ฟในหลุมสุดท้ายผมว่าเป็นหลุมที่สําคัญที่สุด สนามส่วนใหญ่จะทําอุปสรรคในหลุม 9 หลุม 18 มากเกินไป สนามของผมที่ออกแบบจึงทําหลุมสุดท้ายให้ง่ายและอุปสรรคน้อย เพื่อให้เกมสนุกและมีโอกาสแก้ตัว เพราะลองคิดดูนะครับว่า หากหลุมสุดท้ายแล้วมีการเทอร์โบ คนแรกตีออกไปแล้วเสียออกโอบี หรือตกน้ำ คนที่ตีต่อก็จะตีประคองทําให้คนแรกเสียเปรียบ ผมจึงออกแบบให้หลุมสุดท้ายในแต่ละคอร์สง่าย อุปสรรคน้อยเพื่อให้เกมสนุกและไปชิงกันบนกรีนจนพัตต์สุดท้าย”

 

     ทั้งหมดนี้คือแนวคิดของสุดยอดนักสร้างสนามกอล์ฟตัวจริง ผู้ที่เข้าใจในงานโยธา เข้าใจในกอล์ฟ รักในเกมกอล์ฟ เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของนักกอล์ฟ และชอบที่อยู่ท่ามกลางแสงแดด เพื่อเนรมิตรทุกพื้นที่บนโลก ให้เป็นสนามกอล์ฟที่มีสไตล์ เล่นสนุก จนผู้คนกล่าวถึงเขาว่า สุดยอด นักสร้างสนามกอล์ฟชาวไทย

คุณโอ๊ป พิรพน นะมาตร์

 

 

 

 

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

ติดตามข้อมูล ความรู้ต่างๆ จากเราได้ที่

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

https://www.facebook.com/cing8333

https://line.me/R/ti/p/%40golferonline

หรือค้นหาเพื่อนใน line โดยคีย์คำว่า @golferonline

15 / 2 / 2017

 

 

KeyS : สนามกอล์ฟ สัมภาษณ์ Interview Course Courses 

 

 


    




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8