ฉวาง ( แม่อวย พรานนก)

เรียบเรียงโดย พิศณุ นิลกลัด

19 Jan 2017
  • Shares:

     สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ผมขออนุญาตแม่ไปเช่าบ้านรวมอยู่กับเพื่อนอีก 6 คน เหตุผลที่อ้างกับแม่คือบ้านเช่าอยู่ไม่ไกลมหา'ลัยนัก นั่งรถเมล์ต่อเดียว ทําให้ไม่เหนื่อย 

     แต่เหตุผลจริงๆ คืออยู่กับเพื่อนทั้งในและนอกเวลาเรียนมันสนุก มีอิสระจะทําอะไรตามใจตัวเองได้เต็มที่

โชคดีที่เราทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยปิด มีข้อกําหนดว่าทุกวิชาต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของชั่วโมงเรียนจึงจะมีสิทธิ์สอบ ประกอบกับสภาพแวดล้อมและชื่อเสียงของมหา’ลัย “บังคับ” พฤติกรรมให้นิสิตทุกคนต้องเรียนให้จบ เราทั้ง 7 คนจึงเรียนจบตามเกณฑ์ปกติ

     ด้วยเหตุที่เพื่อนผมทั้ง 6 เป็นคนใต้ เราทําอาหารเย็นทานร่วมกันอาทิตย์ละ 7 วัน ผมทานอาหารใต้ทุกวันจนทุกวันนี้ยังสามารถทําแกงเหลือง ผัดสะตอได้อร่อยในระดับแฮนดิแคปไม่เกิน 3

     แกงเหลืองกระดูกหมู หรือแกงเหลืองผักกาดดองก็ทําเป็นครับ !

     ด้วยความที่มีเพื่อนเป็นคนใต้ บางวันที่พอจะฟุ่มเฟือยได้บ้าง-ซึ่งมักจะเป็นวันที่ผมได้รับเงินเดือนจากแม่หรือคนอื่นได้รับธนาณัติจากทางบ้าน เราก็จะไปทานมื้อเย็นที่ร้านฉวาง (02-411-1226, 02-412-8597) ซึ่งเป็นร้านอาหารปักษ์ใต้ชื่อดังริมถนนพรานนกใกล้โรงพยาบาล ศิริราช

 

     ผมไปทานอาหารที่ร้านฉวางครั้งแรกเมื่อร่วม 35 ปีที่แล้ว ล่าสุดไปเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร้านฉวางกิจการยังมั่นคงแข็ง มีลูกค้าทั้งคนใต้และคนชอบอาหารใต้คับคั่งทั้งมื้อเที่ยงและมื้อเย็นเหมือนเดิม

 

     ร้านฉวางเป็นร้านข้าวแกงร้านใหญ่สไตล์โบราณคือหน้าร้านมีหม้อแกงอลูมิเนียมประมาณ 30 หม้อโชว์สินค้าให้ลูกค้ายืนพิจารณาก่อนตัดสินใจว่ามื้อนี้จะสั่งอะไร จะเอาแบบราดข้าวหรือแยกข้าวแยกกับก็ตามถนัด อีกมุมหนึ่งมี ปลาทูทอดปลาอินทรีสดหั่นขวางเป็นชิ้นๆ ทอด และของทะเลสารพัดชนิด

 

     ราคาอาหารทานที่ร้านเริ่มต้นที่ 30 บาท ถ้าใส่ถุงกลับบ้านเริ่มต้นที่ 35 บาท (ปัจจุบันราคาอาจเปลี่ยนแปลง)

     ในบรรดาอาหารทั้งหมดในร้าน มีอยู่เมนูหนึ่งที่ผมต้องสั่งทุกครั้งที่ไปคือ แกงเห็ดแครง 

     แกงเห็ดแครงเป็นแกงเผ็ดใส่กะทิครับ 

     เห็ดแครงเป็นเห็ดดอกเล็กๆ ขึ้นอยู่ตามต้นและกิ่งยางพาราที่แห้งตาย

 

     คุณอุ่นจิตร นุกิจรังสรรค์ คนขายซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของร้านฉวางบอกว่าเมื่อ 20-30 ปี ก่อนเห็ดแครงเป็นเห็ดไม่มีราคา ขึ้นอยู่ตามซากต้นยางพาราเต็มไปหมดจนเก็บไม่หวาดไม่ไหว

 

     แต่พอต้นยางขายได้ เป็นไม้มีราคา เห็ดแครงก็เลยหาที่ขึ้นให้คนกินไม่ได้ มาบัดนี้เห็ดแครงที่พอจะหาทานได้ล้วนแต่เป็นเห็ดแครงเพาะแบบเดียวกับเห็ดหอมเห็ดนางฟ้านั่นเลย

     เห็ดแครงที่ร้านฉวางเอามาแกงกะทิใส่หมูเนื้อแดงหั่นเป็นชิ้นเล็กก่อนโยนเห็ดใส่หม้อต้องแช่น้ำให้นุ่มก่อน 1 ชั่วโมงเพราะเห็ดที่ซื้อมาอยู่ในสภาพเห็ดแห้งราคากิโลกรัมละ 300 บาท

     ความรู้สึกที่ทานแกงเห็ดแครงถ้าตักทั้งเห็ดและเนื้อหมูเข้าปากแล้วเคี้ยวพร้อมกัน นักชิมที่ไม่เคยทานเห็ดแครงมาก่อนจะแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นเห็ดแครง อันไหนเป็นหมูเนื้อแดง

     ต้องตักคําที่สองเลือกแต่เห็ดแครงล้วนๆ นั่นแหละจึงจะจับ “บุคลิก” ของเห็ดแครง ได้.......

     คือมีทั้งความเป็นเนื้อเหมือนเนื้อสัตว์ กรุบแบบเคี้ยวเอ็นอ่อน แต่มีรสชาติของเห็ดที่มีความเหนียว

     สรุปก็คือเราไม่เคยทานเห็ดที่ให้ความรู้สึกแบบนี้ นี่คือเสน่ห์ของเห็ดแครง

     นอกจากแกงเห็ดแครงแล้ว ของหวานที่ร้านฉวางที่ไม่อยากให้พลาดคือข้าวฟ่าง เปียกราดกะทิสด

 

     คุณอุ่นจิตรบอกว่าเธอใช้ข้าวฟ่างเม็ดเล็กละเอียดจากสุราษฎร์และชุมพรซึ่งเป็นข้าวฟ่างที่หายากและอร่อยที่สุดในประเทศไทย ถ้วยนี้ราคา 10 บาท (ปัจจุบันราคาอาจเปลี่ยนแปลง)

     และที่ผมชอบมาก เดี๋ยวนี้ซื้อเป็นของฝากให้เพื่อนฝูงบ่อยๆ คือ ทุเรียนกวนบ้านคีรีวง

     ทุเรียนกวนบ้านคีรีวงส่งมาจากอําเภอลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นฝีมือของชาวชุมชุนบ้านคีรีวง 1 ถุงมี 10 อัน ราคาถุงละ 120 บาท 1 อันขนาดพอดีทานเป็นของหวานมื้อเช้า กลางวัน หรือมื้อเย็นได้ทั้งนั้น

 

     เรียนตามตรงว่าผมไม่เคยทานทุเรียนกวนเจ้าไหนอร่อยและทานได้ไม่มีเบื่อเท่าทุเรียนกวนบ้านคีรีวง เขาใช้เนื้อทุเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใส่แป้งไม่ใส่น้ําตาล รสชาติหวานนวลๆ ที่แปลกไม่เหมือนใครคือ ทุเรียนกวนแต่ละอันเขาบรรจุเป็นแท่งๆ ในกาบหมากย่างไฟแกะออกมาแล้วกลิ่นกาบหมากย่างไฟหอมโชยเตะจมูกฉาดเบ้อเริ่ม

     สําหรับท่านที่ชอบทุเรียนกวน ขอยืนยันว่าของบ้านคีรีวงเขาอร่อยจริงครับ

     ถามคุณอุ่นจิตรว่าร้านฉวาง (แม่อวย พรานนก) ทําไมชื่อยาวนัก

     เธอตอบว่าฉวาง เป็นชื่ออําเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ใครก็สามารถเอามาตั้งชื่อร้านได้ ร้านอาหารปักษ์ใต้จึงมีชื่อฉวางอยู่ทั่วประเทศ

     ด้วยเหตุนี้จึงต้องมี “แม่อวย พรานนก” กํากับไว้ด้วยเพื่อแฟนๆ จะได้ไปถูกร้าน

 

พิศณุ นิลกลัด

 

Key : อาหาร food cuisine 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8