ตัด INSOLE ตามรูปเท้า ลดบาดเจ็บและเพื่อการวิ่งที่ดีขึ้น
เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร
19 Dec 2016
- Shares:
ช่วงที่ผมซ้อมวิ่งหนักๆ เพื่อทำ Sub 4 ในมาราธอน คือวิ่ง 42.195 กม. ให้เวลาต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งหลายๆ ท่านที่เคยวิ่งกับผมคงจะทราบกันว่า ผมทำสำเร็จแล้วที่เวลา 3 ชั่วโมง 46 นาที ในจอมบึงมาราธอนปี 2015 ช่วงนั้นผมมีรองเท้าซ้อมวิ่งหลายคู่ เพื่อสลับซ้อมในแต่ละโปรแกรม เช่น เน้นความเร็ว เน้นอึด เน้นจังหวะท่วงท่าวิ่ง เป็นต้น
จำได้ว่าด้วยโปรแกรมการซ้อมที่เข้มข้น ราว 50-100 กม.ต่อสัปดาห์ ทำให้มักมีอาการบาดเจ็บรบกวนที่บริเวณฝ่าเท้า ( บาดเจ็บฝ่าเท้าครับ มิใช่หัวเข่าที่มักเกิดในนักวิ่งหน้าใหม่เป็นประจำ หลังจากผมปรับท่าวิ่งกับครูดิน ช่วงปลายปี 2014 ผมไม่เคยมีอาการบาดเจ็บหัวเข่า จากการวิ่งอีกเลย) ขอขยายความเพิ่มอีกนิด คำว่า บาดเจ็บฝ่าเท้า มันเกิดขึ้นตรงบริเวณพื้นที่ของฝ่าเท้าที่เป็นพื้นที่ที่ลงน้ำหนัก พื้นที่ที่ฝ่าเท้ากระแทกพื้นช่วงวิ่ง ซึ่งช่วงแรกๆ จะระบม พอระบมนานๆ จะเกิดการพองกินอาณาบริเวณใหญ่มากๆ ( ตอนนั้นผมเลือกใช้ถุงเท้าวิ่งเป็นรุ่นที่ผมคิดว่าดีมาก ออกแบบลดอาการพอง ทุกวันนี้ผมยังใส่ถุงเท้ารุ่นนี้วิ่งอยู่ มันดีมาก และ ทนมากๆ ด้วยครับ) ผมจำได้ว่า มีช่วงหนึ่งที่ผมสลับไปใช้แผ่นพื้นรองเท้าด้านใน Insole ของรองเท้ากอล์ฟ ซึ่งมีความหนากว่าของรองเท้าวิ่ง ช่วยได้เยอะเลยครับ เยอะมาก จนผมสลับ Insole ของรองเท้ากอล์ฟไปใส่ในรองเท้าคู่อื่นๆ ที่ผมใช้ในการซ้อมวิ่งวันนั้นๆ
ผมจำได้ว่า ช่วงนั้นอยากจะไปหาซื้อ Insole ใหม่ มาใส่รองเท้าวิ่งที่ Insole มันบุ่มเป็นรอยปั้มเท้าเราแล้ว และมันก็สึกจนบางลงมาก แต่ตอนที่จะไปซื้อในห้างแผนกรองเท้าวิ่ง เจ้าหน้าที่บอกไม่มีขายแยกเฉพาะ Insole ( ตอนนี้เราสามารถหาซื้อ Insole สำหรับรองเท้าวิ่งได้ง่ายๆ ในโซเชียล ทางออนไลน์แล้วครับ)
ช่วงระหว่างปี 2015 กลางปี จนถึง 2016 กลางปี ผมลดการวิ่งน้อยลงมาก เนื่องจากภาระกิจเรื่องงาน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่หยุดการพิมพ์นิตยสารกอล์ฟ มาลุยทำแบบออนไลน์แทน วิ่งน้อยมาก จนเหลืออาทิตย์ละ 10-20 กม.เท่านั้น จนน้ำหนักตัว กระโดดจาก 74-77 กก. ขึ้นมาวนเวียนแถวๆ 80-84 กก. (เพิ่มขึ้น 6-10 กก.) ช่วงนั้น ผมไม่ค่อยกล้าวิ่งเยอะ เพราะน้ำหนักตัวมาก กลัวจะเกิดการบาดเจ็บ จบวันนึงเพื่อนผมชื่อ จูน แนะนำให้ไปพบคุณหมอสมศักดิ์ เหล่าวัฒนา ซึ่งอยู่ที่คลีนิคในสุขุมวิท 24 ข้างเอ็มโพเรียม ชื่อ Bangkok Advance Clinics เวบไซท์ www.bangkokadvancedclinics.com/ เป็นคลีนิคที่รักษาโรคเฉพาะทางหลายโรค หนี่งในนั้นคือเรื่องเกี่ยวกับข้อ กระดูก ครับ
ก่อนผมไปพบคุณหมอ ผมได้ข้อมูลเพียงว่า คุณหมอเป็นหมอผ่าตัดที่มีแนวทางการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณหลังจากการเล่นกอล์ฟ ด้วยการใช้วิธีการตัดแผ่นพื้น Insole ใส่ในรองเท้า เพื่อปรับโครงสร้างของกระดูกนักกอล์ฟที่คด บางคนถึงขั้นโค้ง ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด คล้ายๆ กับการดัดฟัน อันนี้คือการดัดกระดูกกลับมาให้ตรง โดยไม่ต้องผ่าตัด
วันที่ไปพบคุณหมอ ทางเจ้าหน้าที่ก็จับผมเข้าเครื่องเอ็กซ์เรย์ทั้งตัว ตามรูป
วันที่ผมไปพบคุณหมอ ผมได้ความรู้เพิ่มเติมว่า มนุษย์แต่ละคน ขาซ้ายกับขาขวาจะยาวไม่เท่ากัน ทำไมถึงไม่เท่ากันผมขอข้ามละกันครับ เรื่องมันยาว เอาเป็นว่า มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา และอื่นๆ ครับ
การที่ขา 2 ข้างยาวไม่เท่ากัน มันอาจจะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือมองไม่เห็นครับ ในส่วนของผมมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อเอ็กซ์เรย์แล้วจะเห็นว่าขาซ้ายผมยาวกว่าขาขวาราว ๆ 4.4 มม. ครับ ส่วนภาพประกอบอีกภาพเป็นเด็กที่มีภาวะขาซ้าย ขวา ยาวไม่เท่ากันจนเห็นได้จากภายนอกครับ
เด็กที่ขาขวากับซ้ายยาวต่างกันมากๆ
การที่ขาซ้ายผมยาวกว่า สังเกตรูปกระดูกเชิงกรานฝั่งซ้ายผมสูงกว่าฝั่งขวา สะโพกซ้ายสูงกว่าสะโพกขวา ซึ่งตามปกติแล้ว ถ้าสะโพกซ้ายที่สูงกว่า มันจะดูคล้ายๆ การจรดลูกตีไดรเวอร์ใช่มั้ยครับ เมื่อสะโพกซ้ายสูงกว่า น้ำหนักตัวมันจะถูกทิ้งลงไปที่เท้าขวา ใช่มั้ยครับ เหมือนท่าจรดตีไดรเวอร์ แต่ทีนี้ ในชีวิตประจำวันมันไม่ใช่อย่างนั้นสิ การยืนของมนุษย์เราที่ไม่รู้ตัวว่าขาเรายาวไม่เท่ากัน เราก็จะพยายามยืนเพื่อปรับสมดุลย์โดยอัตโนมัติ หลักการคือยืนเพื่อให้น้ำหนักทิ้งลงเท้าทั้ง 2 ข้างพอๆ กัน ลองคิดตามไปพร้อมๆ กัน เมื่อสะโพกซ้ายผมสูงกว่า ธรรมชาติน้ำหนักผมจะทิ้งลงขาขวา แต่ถ้าผมต้องการปรับสมดุลย์ให้ขาทั้ง 2 ข้างรับน้ำหนักเท่ากัน ผมก็ต้องมีการเอนตัว Reverse กลับไปทางซ้าย หรือยืนขาโก่งๆ ด้านขายาว เพื่อปรับจุดศูนย์ตัวเข้าไปที่กลางลำตัวครับ ตอนเอียงตัวกลับมาทางซ้ายนี่รู้ได้เลยที่ผมเจ็บซีกซ้ายเวลาตีกอล์ฟบ่อยๆ เพราะอะไร คือเวลาที่เราเอียงตัวมาทางซ้ายมันจะเกิดแรงกดตรงกระดูกซีกซ้าย พอผมเอียงปุ๊บ ตรงที่มันเกิดแรงกดนั่นแหละ คือตำแหน่งที่ผมเจ็บเป็นประจำเวลาสวิงกอล์ฟ
สำหรับความรู้ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทำให้ผมเข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสวิงของนักกอล์ฟ ซึ่งผมสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า การที่นักกอล์ฟแต่ละคนมีสวิงที่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ก็เป็นเพราะโครงสร้างทางกายภาพแตกต่างกัน และการที่นักกอล์ฟบางคนไม่สามารถสวิงตามที่ครูสอนกอล์ฟบอกให้ทำได้ บางครั้งก็อาจไม่ใช่ว่านักเรียนคนนั้นๆ ไม่มีความสามารถ แต่ด้วยสรีระของนักเรียนไม่เอื้อให้สามารถสวิงอย่างที่ครูสอนกอล์ฟต้องการได้ครับ
เรื่องของกอล์ฟ เดี๋ยวผมค่อยหาเวลาเขียนเพิ่มอีกครั้งครับ
กลับมาที่เรื่องของวิ่ง ตอนแรกคุณหมอเค้าอยากให้ผมทดสอบแผ่น Insole สำหรับกอล์ฟ เพราะคุณหมอห่วงเรื่องสุภาพหลังของนักกอล์ฟบ้านเรา โดยเฉพาะนักกอล์ฟเยาวชนบ้านเราที่มักได้รับการบาดเจ็บบริเวณหลังเป็นประจำ แต่ผมดันขอให้คุณหมอลองตัดแผ่น INSOLE สำหรับวิ่งให้ผมทดสอบก่อน เพราะผมน่าจะจับความรู้สึกที่เท้าจากการวิ่งได้ดีครับ
แผ่น INSOLE ของผมถูกตัดขึ้นตามรูปเท้าของผมเอง โดยขั้นตอนการผลิต ต้องมีการปั้มเท้าเราลงไปที่กล่องใส่ทราย หลังจากนั้นช่างทำแผ่น Insole ก็จะไปขึ้นรูปแผ่น Insole ให้เข้ากับรูปเท้าเราครับ
แผ่น Insole ของผมบริเวณส้นจะหนาไม่เท่ากัน โดยส้นฝั่งเท้าขวาจะหนากว่า เพื่อทำให้เวลายืนตัวตรง สะโพกด้านขวาที่อยู่ต่ำกว่า จะถูกยกให้สูงขึ้น ทำให้ผมไม่ต้องเอียงตัวไปทางซ้ายเพื่อชดเชยให้จุดศูนย์ถ่วงกลับเข้ามาอยู่กลางลำตัว (ลดแรงกดที่อยู่ซีกซ้ายของกระดูกด้านหลัง และลดการบาดเจ็บหลังครับ) เท้าซ้ายผมจะถูกดันให้บิดกลับมาลงเต็มเท้ามากขึ้น และที่สำคัญที่สุด เมื่อผมยืนเฉยๆ จะรู้สึกได้ว่า ฝ่าเท้าผมได้แนบสนิทไปกับ Insole ไม่มีช่วงที่เป็นช่องว่างระหว่างเท้ากับ Insole ผมจะรู้สึกว่าฝ่าเท้าได้ถูกแผ่ออกเพื่อไปรับน้ำหนักเต็มตัวทั้งฝ่าเท้า เหมือนเรายืนบนพื้นได้เต็มขึ้นครับ นี่คือความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้จากการแค่ยืนเฉยๆ บนแผ่น Insole นี้ครับ
หลังจากนั้นผมเอา Insole ไปใส่แทนที่แผ่น Insole ที่ติดมากับรองเท้าวิ่ง ตอนถอดแผ่นพื้นเดิมออกมานี่รู้สึกได้เลยว่า ทำไมแผ่นที่ติดมากับรองเท้าเดิมมันบางจัง ฟะ!!! มิน่าเจ็บประจำ
ผมลองวิ่งดู ช่วงแรกๆ ด้วยระยะทางสั้นๆ ก่อน เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของผมจากตอนฟิตๆ ราว 6-10 กก. ทำให้เรากังวลว่าจะเจ็บ หลังจากผมวิ่ง 5 กม. ไม่เป็นไร ก็ลองวิ่ง 10,15,20,25 และยาวที่สุด 35 กม. ก็ยังไม่เป็นไรครับ ซ้อมวิ่ง 3 เดือน ระยะทางกว่า 490 กม. ก็ยังไม่เป็นไรครับ ไม่มีอาการเจ็บฝ่าเท้า เท้าพอง อย่างที่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่น้ำหนักตัวผมก็มากขึ้นพอสมควร
ผลการใช้ Insole แบบตัดตามรูปเท้าตัวเอง พบว่าได้ผลออกมาค่อนข้างดี มันสามารถช่วยเซฟฝ่าเท้าผมให้ไม่เป็นอะไรเลย หลังวิ่งผ่านมา 490 กม.ที่น้ำหนักตัวเฉลี่ย 83 กก. ที่สำคัญช่วง 10 วันที่ผมวิ่งตามรอยตูน บอดี้สแลมที่วิ่งหาทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน
ผมวิ่ง 10 วัน 223 กม. โดยที่ฝ่าเท้าไม่เป็นอะไรเลยครับ !!!