SAKATA STUDIO

เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

12 Sep 2016
  • Shares:

The Art Of Golf Club by Japanese Craftsman

 

                ในฐานะวิศวกรที่คลุกคลีอยู่ในวงการช่างมานานกว่า 20 ปี เห็นไม้กอล์ฟมามากมาย ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม้กอล์ฟแบรนด์ HONMA เป็นไม้กอล์ฟที่ผลิตออกมาได้สวยงาม ประณีต ไร้ที่ติเสมอมา เป็นไม้กอล์ฟที่มีการออกแบบได้มาตรฐานสะท้อนเอกลักษณ์ความจริงจังซึ่งเป็นตัวตนของชาวญี่ปุ่นได้อย่างดี เคยได้ยินมาว่าไม้กอล์ฟของ HONMA สร้างขึ้นมาจากฝีมือของวิศวกรและช่างฝีมือชาวญี่ปุ่น ณ โรงงาน ในเมืองซาคาตะ จังหวัดยามางาตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่โรงงานนั้นเป็นหนึ่งในโรงงานประกอบไม้กอล์ฟของโลกที่เต็มไปด้วยช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นที่มากประสบการณ์

 

                จนวันหนึ่งบริษัท HONMA ในไทย ให้เกียรติผมเดินทางร่วมทริปไปชมโรงงานนี้ ซึ่งผมได้ยินชื่อเสียงมานาน การเดินทางครั้งนี้เราไปกับลูกค้าและสื่อจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งมีทั้งฝรั่ง และชาวเอเชียกว่า 100 คน แขกรับเชิญที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าบ้านชาวญี่ปุ่น ตั้งแต่ที่สำนักงานใหญ่ที่โตเกียว ที่โรงงานซาคาตะ ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการไปเยี่ยมโรงงานแล้ว มีพนักงานทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่และโรงงาน ยืนเรียงเป็นแถวและปรบมือให้เราตลอดทางตั้งแต่ต้นทางจนสุดทาง โดยเฉพาะตอนที่ไปเยี่ยมที่โรงงาน ทางเจ้าบ้านจัดเส้นทางให้เราเดินเข้าโรงงานไปตามพรมแดงผ่านพนักงานชาวญี่ปุ่นกว่า 100 ชีวิต ขึ้นไปบนเวทีผ่านทางซึ่งถูกเซตไว้เสมือนเป็นแคทวอล์ค ซึ่งแต่ละประเทศที่เดินขึ้นไป จะได้รับการประกาศชื่อประเทศ ให้อารมณ์เหมือนนักกีฬาโอลิมปิกที่กำลังเดินเข้าไปสู่สนามกีฬาในพิธีเปิดการแข่งขัน สร้างความประทับใจให้กับแขกที่ไปเยี่ยมโรงงานตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่มาถึงโรงงาน เป็นไอเดียการต้อนรับที่ผมเคยเจอครั้งแรก และรู้สึกประทับใจมาก โรงงานไหนในเมืองไทยอยากจะลองนำไอเดียนี้ไปใช้ ผมว่ามันเข้าท่ามากทีเดียวครับ

 

                การมาเยี่ยมโรงงาน HONMA ในครั้งนี้ ทางโรงงานตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้แขกที่มาเยือนเข้าใจถึงกระบวนการผลิตไม้กอล์ฟที่สร้างสรรค์ออกมาจากโรงงานนี้ว่ามันพิเศษอย่างไร เราถูกแบ่งกลุ่มเข้าเยือนโรงงานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ทุกคนจะได้รับเครื่องมือสื่อสารที่มีหูฟังเสียงล่ามภาษาอังกฤษบรรยายงานผลิตในจุดต่างๆ ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ถ้าเดินตามล่ามไม่ทัน เราก็ยังได้ยินเสียงจากเครื่องฟังนี้อยู่ดี  

                 โรงงานที่ผมมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม เป็นโรงงานต้นทางที่ใช้สำหรับเป็นศูนย์วิจัยและออกแบบไม้กอล์ฟ จัดทำโมเดลต้นแบบสำหรับไม้กอล์ฟรุ่นใหม่ๆ มีห้องทดสอบอุปกรณ์กอล์ฟโดยใช้หุ่นยนต์ทดสอบราว 4 ตัว มีระบบตรวจสอบสเปคของไม้กอล์ฟทุกชนิด เป็นโรงงานประกอบชุดเหล็กรุ่นต่างๆ ของ HONMA และที่สำคัญเป็นโรงงานผลิตก้านแกรไฟท์มาตรฐานสูงของ HONMA ซึ่งทุกคนล้วนยอมรับในคุณภาพของก้านที่ผลิตจากโรงงานซาคาตะ

 

                ภายในโรงงานแห่งนี้ ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่าช่างฝีมือทั้งหมดที่อยู่ในโรงงานแห่งนี้ ล้วนเป็นชาวญี่ปุ่นประสบการณ์สูง ส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกหม้ออยู่ในโรงงานนี้มาไม่ต่ำกว่า 10  ปี จึงไม่แปลกที่ช่างชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในโรงงานนี้ จึงมีความเข้าใจในวัฒนธรรมความเป็นมา และเอกลักษณ์ของแบรนด์ฮอนม่าเป็นอย่างดี

                วันที่ผมไปเยี่ยมชมโรงงาน ทางฮอนม่าจัดให้ผมดูแผนกซึ่งเป็นหัวใจหลักของการผลิตไม้กอล์ฟแบรนด์ฮอนม่าเลยทีเดียว ผมได้เริ่มดูตั้งแต่กระบวนการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค

 

     ก่อนที่แบบพิมพ์เขียวของการออกแบบจะถูกส่งไปให้แผนกสร้างรูปจำลองของไม้กอล์ฟ ซึ่งมีตั้งแต่กระบวนการขึ้นรูปด้วยไม้แบบคลาสสิค ซึ่งต้องใช้ช่างฝีมือขัดแต่งไม้จนเป็นรูปทรงที่ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค การขึ้นรูปแบบสมัยใหม่ด้วยเครื่อง 3D Printer ซึ่งเป็นเครื่องที่สามารถขึ้นรูปจากสูญญากาศคือไม่มีอะไรเลย ค่อยๆ ปรินท์ขึ้นมาจนเป็นรูปทรงไม้กอล์ฟ

 

เครื่องพิมพ์ 3D

 

     หลังจากนั้นไม้กอล์ฟจำลองต้นแบบจะถูกตรวจสอบความสวยงามในทุกมิติ มีการใช้เครื่อง 3D Scan เพื่อตรวจสอบรูปทรงของไม้กอล์ฟจำลอง ก่อนที่จะปรับแต่งจนไม้กอล์ฟสวยงามลงตัวมากที่สุด ก่อนส่งไปที่แผนกทำแบบไม้พิมพ์ เพื่อใช้เป็นแบบในการสร้างไม้กอล์ฟจริงๆ ต่อไป

 

      การเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ มีหลายแผนกที่น่าสนใจมาก เราเห็นหุ่นยนต์ทดสอบที่ใช้อยู่ภายในโรงงานอยู่ราว 4  ตัว อยู่ใกล้ๆ กับแผนกออกแบบ ซึ่งหุ่นยนต์ทดสอบเหล่านี้ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่แบรนด์กอล์ฟชั้นนำจะต้องมีไว้เป็นมาตรฐาน เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้เอง จะเป็นตัวทดสอบเบื้องต้นว่าการออกแบบไม้กอล์ฟในแต่ละปีผู้ออกแบบจะสามารถพัฒนาไม้กอล์ฟให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้ สามารถจำลองลักษณะการตีรูปแบบต่างๆ ได้ หุ่นยนต์ที่ผมเห็นในโรงงาน ค่อนข้างมีการเคลื่อนไหวที่จำลองการตีของนักกอล์ฟแบบใกล้เคียงกับสวิงจริงของนักกอล์ฟมากที่สุด จริงๆ แล้วผมเคยเห็นหุ่นยนต์ทดสอบไม้กอล์ฟในโรงงานหนึ่งในเมืองไทย ซึ่งการสวิงจะไม่มีการหมุนไม้กอล์ฟระหว่างการสวิง แต่หุ่นยนต์ที่โรงงานนี้ ระหว่างขึ้นแบ็คสวิงมีการหมุนไม้ขึ้นแบ็คสวิง คล้ายๆ การหมุนท่อนแขนของคนขณะแบ็คสวิง และมีการหมุนกลับและคลายข้อมือขณะสวิง ทำให้การออกแบบก้านซึ่งเป็นพระเอกของแบรนด์ฮอนม่ามาตลอด การใช้หุ่นยนต์ทดสอบ ผู้ออกแบบสามารถออกแบบได้ทั้งความแข็งของก้าน Torque ของก้าน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดกับนักกอล์ฟแต่ละระดับ ผมใช้เวลาอยู่ตรงโซนหุ่นยนต์ทดสอบนานกว่าปกติ จนคณะทัวร์โรงงานเดินเกือบจะพ้นบิเวณนี้ไปแล้ว ในความเห็นผมแผนกนี้ น่าจะเป็นหัวใจหลักที่ทำให้แบรนด์ฮอนม่าสร้างก้านแกรไฟท์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

                  มาที่โรงงานนี้ผมยังได้เห็นกระบวนการผลิตก้านแกรไฟท์ ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยแต่ได้ยินคนเล่าให้ฟัง แต่ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด การผลิตก้านของฮอนม่า จะใช้วิธีม้วนก้านด้วยเครื่องจักรซึ่งมีลูกกลิ้งหมุนแท่งเหล็กซึ่งใช้สำหรับขึ้นรูปก้านแกรไฟท์ โดยการม้วนจะเอาแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ไปพันกับแท่งเหล็กแล้วให้เครื่องจักรหมุนลูกกลิ้งจนแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ม้วนเป็นชั้นๆ แนบสนิทไปกับชั้นที่อยู่ด้านในสุด  ซึ่งแต่ละชั้นจะใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งขั้นตอนการม้วนขึ้นรูปจนเป็นก้านแกรไฟท์ของฮอนม่า จะค่อยๆทะยอยส่งไปตามไลน์ผลิตที่จุดต่างๆ ม้วนทีละชั้น ขัดแต่งผิวทีละชั้นให้เรียบ เพื่อให้แต่ละชั้นประสานกันเป็นเนื้อเดียวมากที่สุด  งานตรงแผนกนี้ทำด้วยความชำนาญจากการสะสมประสบการณ์หลายปี และที่สำคัญงานนี้ใช้ช่างชาวญี่ปุ่น 100% ทำให้ก้านแกรไฟท์ของฮอนม่า เมื่อนำมาผ่าดูรูปตัดของก้านแล้ว และใช้กล้องความละเอียดสูงส่องและถ่ายรูปออกมาดูจะพบว่าแต่ละชั้นจะอยู่แนบสนิทชิดกัน ไม่มีช่องว่างเป็นฟองอากาศซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของก้านตกลงไป

 

 

    หลังจากที่ก้านผ่านกระบวนการขึ้นรูปจนเป็นก้านเรียบร้อยแล้ว ก้านจะถูกลำเลียงมาพ่นสีด้วยเครื่องพ่นสีซึ่งมีระบบการสแกนที่ทันสมัย ทำให้ตำแหน่งการพ่นสีของก้านแม่นยำมีมาตรฐานสูง และที่สำคัญช่างชาวญี่ปุ่นซึ่งรับผิดชอบงานนี้ ทำหน้าที่อยู่ตรงนี้มาหลาย 10 ปีแล้ว ทำให้สีที่พ่นออกมารับประกันว่าไม่ผิดเพี้ยน เพราะแต่ละก้านที่พ่นสีออกมา จะถูกตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่งสีที่ตัดกัน ความเข้มของสีเมื่อเทียบกับสีต้นแบบ ซึ่งทั้งหมดจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียดทีละก้าน ก่อนที่จะส่งต่อไปยังแผนกทำสติกเกอร์ติดชื่อเรียกของก้าน และความแข็งของก้าน

 

      หลังจากได้ดูกระบวนการผลิตส่วนประกอบของไม้กอล์ฟแต่ละชิ้น ก็มาถึงแผนกที่สำคัญคือแผนกประกอบไม้กอล์ฟ ซึ่งป็นอีกหนึ่งแผนกที่ผมอยากรู้ว่า งานการประกอบไม้กอล์ฟที่โรงงานนี้เป็นอย่างไร เท่าที่ผมสังเกตแผนกการประกอบไม้กอล์ฟ ผมเห็นช่างประกอบก็เป็นชาวญี่ปุ่น 100% ดูทรงของช่างแต่ละคน มีความละเอียดถึงขั้นว่า แต่ละคนสามารถเดินออกจากโรงงานมาแล้ว เปิดร้านซ่อมไม้กอล์ฟได้เลย ทุกไลน์การประกอบไม้กอล์ฟมีกระบวนการตรวจสอบที่ละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบความแข็งของก้านโดยการเช็คค่า CPM

 

การตรวจสอบน้ำหนักของกริปซึ่งจะถูกลำเลียงผ่านสายพานเข้าเครื่องชั่งดิจิตอล หากน้ำหนักไม่ผ่านเกณฑ์ กริปจะถูกคัดออกตั้งแต่กระบวนการนี้เลย

 

     หลังจากทุกอย่างผ่านกระบวนการตรวจสอบ ก่อนที่ช่างชาวญี่ปุ่นก็จะประกอบหัวเข้ากับก้านและกริป จะต้องมีการชั่ง Swing Weight ให้เป็นไปตามการออกแบบ หากค่าไม่ได้ตามที่ออกแบบ ก็จะถ่วงน้ำหนักที่แผนกนี้ทันที

 

     หลังจากประกอบหัว ก้าน กริปแล้ว ช่างชาวญี่ปุ่นจะตรวจสอบตำแหน่งการใส่ก้าน ใส่กริป และหน้าไม้ให้ตรงอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเครื่องตรวจเช็คที่เป็นเลเซอร์ช่วยในการมาร์คตำแหน่งว่าทั้งหมดอยู่ตรงกันหรือยัง ซึ่งกระบวนการนี้ ผมมีความเห็นว่า ละเอียดละออและใช้เทคโนโลยีดีกว่าร้านทำไม้กอล์ฟบางร้านเสียอีก

 

     เมื่อประกอบทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม้กอล์ฟจะถูกส่งมาที่ฝ่ายทำความสะอาดหัว เพื่อเช็คทำความสะอาดให้เรียบร้อย  และยังมีการตรวจเช็คการใส่หัว ก้าน กริป อีกครั้ง ก่อนที่ไม้กอล์ฟจะถูกส่งไปที่ฝ่ายตรวจสอบ Loft และ Lie Angle ของเหล็ก ซึ่งข้างๆ โต๊ะของฝ่ายตรวจสอบจะมีเครื่องดัด Loft และ Lie Angle เลย หากไม่ได้ตามสเปคช่างชาวญี่ปุ่นก็จะดัดให้เป็นไปตามสเปคเดี๋ยวนั้นเลย

 

 

     นอกจากกระบวนการตรวจเช็ค Loft และ Lie Angle ของเหล็ก ซึ่งมีการตรวจเช็คเหล็กทุกชิ้นแล้ว ยังมีแผนกตรวจสอบความเด้งของหน้าไม้ ซึ่งใช้เครื่องแบบเดียวกับที่ USGA และ R&A ใช้ในการตรวจสอบความเด้งของหน้าไม้ ซึ่งปัจจุบัน ใช้วิธีวัดค่า Characteristic Time (CT) ซึ่งไดรเวอร์ทุกอันก็จะถูกตรวจวัดค่าความเด้งของหน้าไม้ เพื่อให้แน่ใจว่าไดรเวอร์ทุกอันที่ผลิตออกมาขายยังท้องตลาดจะไม่มีอันที่ผิดกฎหลุดรอดออกไป ซึ่งเรื่องนี้ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างจริงจังกับเรื่องนี้มาก ชาวญี่ปุ่นจะไม่ใช้ไดรเวอร์ที่ผิดกฎในการออกรอบเล่นกอล์ฟกับเพื่อน

       นอกจากได้มาเยี่ยมชมโรงงานที่ฮอนม่าแล้ว ผมยังได้มีโอกาสไปเห็นสนามซ้อมไดรฟภายในโรงงาน ซึ่งมีระยะไดรฟยาวกว่า 350 หลา ซึ่งที่นั่นจะมีทัวร์แวนไว้สำหรับให้โปรชาวญี่ปุ่นมาฟิตติ้งหาสเปคไม้ที่เหมาะสำหรับใช้ในการแข่งขัน ที่นั่นยังมีหุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพ พร้อมเครื่อง Trackman สำหรับวิเคราะห์วิถีลูกที่ผู้ออกแบบสร้างไม้กอล์ฟออกมาแต่ละปี

 

 

 

                การที่ผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมโรงงาน HONMA ที่ญี่ปุ่นนี้ ทำให้ผมทราบความหมายที่แท้จริงของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขาจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับประโยคที่ว่า Made In Japan ว่ามีความหมายและมีความสำคัญอย่างไร งานที่ผลิตออกมาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นงานที่รับประกันว่างานจะออกมาจะมีคุณภาพที่สูงมาก ซึ่งที่ HONMA นี้ ไม่เพียงแต่เป็นงานที่ Made in Japan เท่านั้น แต่เป็นงานที่ Made In Japan at Sakata จากช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในโรงงานนี้มาหลาย 10 ปี         

      

 

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

12 / 9 / 2559

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

Official Line : @golferonline

 

Tags : Honma Sakata ฮอนม่า โรงงาน Factory

 

            


Related to

http://www.honmagolf.co.jp/en/mono/sakata.html

สอบถามเพิ่มเติม



SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8