Titleist
Amazing Slider Free Version


คนหลังไมค์

04 Aug 2016
  • Shares:

มันไม่ใช่ The End of The World มันไม่ใช่เป็นที่สิ้นสุดของชีวิต

 

COMMENTATORS

บทความนี้กอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ทำไว้ตั้งแต่ มีนาคม 2007 ผมมองเห็นว่า มีเรื่องราวหลายๆ เรื่องที่มีประโยชน์กับนักพากย์รุ่นใหม่ๆ ครับ จึงนำเรื่องนี้มาเก็บไว้ในรูปแบบดิจิตอลครับ

...คอกีฬาหลายๆ ท่านคงเคยมีความรู้สึกที่อยากเห็นหน้าค่าตาผู้บรรยายกีฬา หรือ  นักพากย์ว่าเขามีน้ำเสียงเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นเช่นไรหนอ?...ในวันนี้เราได้ตามล่า   คว้าตัวพวกเขา “ผู้บรรยายกีฬากอล์ฟ” ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นน้ำเสียงในการแข่งขัน ทัวร์นาเมนท์ต่างๆ มาเผยโฉมให้คุณได้รู้จัก...

ศุภพร มาพึ่งพงษ์

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 32 ปี     กีฬาแรกที่บรรยาย : อเมริกันฟุตบอล 

 

     “การเป็นผู้บรรยายที่ดีนั้น เมื่อหยิบอะไรมาวางตรงหน้าคุณต้องพูดได้หมด สิ่งที่ตาคุณเห็นคุณพูดได้ดี    แค่ไหน คุณต้องเป็นผู้ที่จะสามารถบรรยายชี้แนะเชิญชวน และต้องมีความเป็นนักประชาสัมพันธ์ในตัวด้วย ต้องรู้พอที่จะพูดนําเกมได้ ไม่จําเป็นต้องรู้หมด หากรู้หมดยิ่งช่วยให้อรรถรสในการบรรยายสมบรูณ์ขึ้น”

     “มันไม่ใช่ The End of The World...มันไม่ใช่เป็นที่สิ้นสุดของชีวิต” นี่คือประโยคที่หลายคนคงคุ้นหูจากโฆษณาทางโทรทัศน์ เขาคนนี้เคยเป็นนักพากย์กีฬา ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้อํานวยการทีมกอล์ฟสิงห์  

       ศุภพร มาพึ่งพงษ์ เป็นคนหนึ่งที่จุดประกายและสร้างนักพากย์กีฬารุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาประดับวงการโทรทัศน์บ้านเรา เขาถูกยกให้เป็นครูคนแรก จากความเห็นของผู้บรรยายรุ่นน้องๆ ที่เคยร่วมงานกับเขา 

      ก้าวแรกของการเข้ามาเป็นผู้บรรยายกีฬานั้น เขาได้สัมผัสและบรรยายกีฬาที่เขารักคือ อเมริกันฟุตบอล และมีโอกาสได้ร่วมงานกับ อ.ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย หนึ่งในผู้บรรยายกีฬาที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ณ ตอนนั้น ที่ช่อง 3 ต่อมาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และย้ายมารับตําแหน่งบรรณาธิการข่าวกีฬา-ข่าวต่างประเทศอยู่ที่ช่อง 7 ประมาณ 15-16 เดือน จึงผันตัวเองมาทํางานอยู่ที่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จนถึงปัจจุบัน   

     “กีฬาแรกที่พากย์คืออเมริกันฟุตบอล แล้วพัฒนามาเรื่อยตอนอยู่ช่อง 3 แต่ไม่ใช่พนักงานประจํา มาเป็นพนักงานเต็มตัวที่ช่อง 7 เป็นบรรณาธิการข่าวกีฬา-ข่าวต่างประเทศ และเป็นผู้บรรยายกีฬาด้วย ซึ่งก็ได้บรรยายทุกประเภทกีฬา ทั้งสนุกเกอร์, มวยปล้ำ บรรยายคู่กับ อ.สุวัจน์ กลิ่นเกษร หรือน้าติง ของเด็กๆ นั่นเอง”

     “ผมบรรยายกีฬาได้สักระยะจนเริ่มซึมซับและได้เทคนิค เพราะว่าเวลาบรรยายจะเกาะแนวต่างประเทศ คือแนวเสียงของต่างประเทศ ผมจะต้องพยายามฟังเสียงภาษาอังกฤษและเกาะแนวเขา แนวในลักษณะที่ว่านี้คือ มีลุ้นเกมให้สนุก มีการให้ข้อมูล มีการชี้แนะ หรือการวิเคราะห์เกม ทุกอย่างจะผสมกลมกลืนกันไป ตรงนี้ผมเรียนรู้มาจากที่เขาพากย์ภาษาอังกฤษ เพราะเราจะฟังภาษาอังกฤษแล้วเราก็พูดมาเป็นไทย แต่ข้อมูลดิบ คือข้อมูลที่เราได้มาจากการค้นคว้านั่นอีกเรื่องหนึ่ง พอเข้าเกม ข้อมูลพื้นฐานข้อมูลดิบเราก็โปรยออกไปก่อน การบรรยายกีฬาไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลให้ผู้ชม  เราต้องรู้ว่าคนดูเขาสนุกตรงไหน เขาอยากได้ อยากรู้อะไรบ้าง”  

    “กอล์ฟเป็นกีฬาที่บรรยายไปเรื่อยๆ การบรรยายกอล์ฟไม่ยาก แต่บรรยายให้   ดีนั้นยาก กอล์ฟเป็นกีฬาที่ลึกซึ้ง เปลี่ยนสนามสภาพการเล่นก็เปลี่ยนหมด เป็นกีฬา    ที่เกือบจะไม่มีลิมิต ช็อตในเกมกอล์ฟมีมากมาย ตีได้หลายรูปแบบ เพราะฉะนั้น        ผู้บรรยายที่เข้าใจเกมกอล์ฟจะบรรยายให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรสในการดูได้มากกว่า”

    “และการที่เราจะบรรยายกีฬาให้ได้อรรถรสนั้น ประการแรกคุณต้องสนุกกับเกมให้ได้ก่อน เมื่อเราสนุกกับเกมแล้ว เราถึงจะเริ่มให้ผู้ชมสนุกด้วย เพราะผู้บรรยายเมื่อรู้อะไรแล้วต้องพยายามชี้แนะผู้ชมทางบ้าน แต่ไม่ใช่การยัดเยียดหรือกรอกข้อมูลที่เรามีทั้งหมดให้แก่  ผู้ชม...นอกจากเสียงดีแล้ว จังหวะการพูดที่ดีแล้ว ต้องเรียนรู้จังหวะที่จะพูด สิ่งเหล่านี้ประสบการณ์จะเป็นตัวสอนเรา...เราต้องพยายามหาสไตล์ของตัวเอง ต้องมีประเด็น มีจุดยืนในประเด็นที่เราจะนําเสนอด้วย”

 

ปัจจุบัน คุณศุภพร มาพึ่งพงศ์ เสียชีวิตไปแล้ว ในวัย 61 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 หลังจากนำนักกีฬากอล์ฟในสังกัดของบริษัท ไปฝึกซ้อม แล้วเกิดอาการไม่สบายกะทันหัน

 

พิศณุ นิลกลัด

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 30 ปี  กีฬาแรกที่บรรยาย : วอลเลย์บอล 

 

“กอล์ฟเป็นกีฬาที่ใช้เสียงบรรยายน้อย...แต่ต้องใช้ความรู้เยอะ”   

พิษณุ นิลกลัด เริ่มต้นจากการมีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์รายวัน แล้ววันหนึ่งสถานีโทรทัศน์เขาต้องการคนพากย์ที่มีความรู้เรื่องกีฬามากกว่าผู้บรรยายประจําซึ่งเป็นพนักงานของสถานี ซึ่งบทบาทการเป็นนักพากย์ของเขาเริ่มที่ช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ....นั่นเอง 

    “กีฬาแรกที่ผมบรรยายคือ วอลเลย์บอล ประมาณปี 2529 พากย์เทปวอลเล่ย์กรังด์ปรีซ์ทางช่อง 5 ผมเป็นนักวอลเล่ย์ทั้งสมัยเรียนมัธยม และเรียนมหาวิทยาลัย รับเหนียวแน่นและเซ็ทได้เนี้ยบ คุณย.โย่ง   พาไปพากย์เพราะเขาพากย์บอลอยู่ช่อง 5 พอมีวอลเล่ย์เขารู้ว่าผมเล่นวอลเล่ย์ใช้ได้เลยชวนไปพากย์  พากย์เสร็จตอนบ่าย ตอน 5 ทุ่มก็ตั้งตารอดูวอลเล่ย์ที่เราพากย์ด้วยความตื่นเต้น แต่ปรากฏว่าวอลเล่ย์ แมทช์นั้นไม่ใช่เสียงผมพากย์ เป็นใครก็ไม่ทราบ รุ่งขึ้นถามคุณย.โย่ง ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่านายทหาร คนที่ดูแลตอนผมพากย์บอกว่าไม่ดี ท่านเลยพากย์เอง เขาตําหนิผมตอนที่ฝ่ายหนึ่งได้แต้มแบบฟลุคๆ ผมใช้คําว่า  “เฮงจริงๆ” ว่าใช้คําพากย์ไม่เหมาะสม ต้องพูดว่า “โชคดีจริงๆ” ตอนนั้นถ้าผมมีเครดิตเท่าตอนนี้พูดว่า “สุดจะเฮง” ยังได้เลย”

     “การพากย์แล้วไม่ได้ออกอากาศครั้งนั้นทําให้ผมสูญเสียความมั่นใจไปพอสมควร กระทั่งอีก 1 ปีต่อมาช่อง 7 เชิญไปพากย์มวยแล้วเกิดถูกใจผู้ชมและคุณชาติเชื้อก็เลยได้พากย์มาเรื่อย  พากย์กีฬาทุกอย่างยกเว้นอเมริกันฟุตบอล มวยปล้ำ และบาสฯ เอ็นบีเอ เพราะความรู้ไม่ถึงขั้นจะเป็นคนบรรยาย ส่วนกอล์ฟเริ่มปลายปี 2531...พากย์ครั้งแรกพากย์เทป เป็นรายการยูโรเปี้ยนทัวร์  ดูเหมือนจะถ่ายทอดจากสนามเวนท์เวิร์ธ ประเทศอังกฤษ”

     “กอล์ฟเป็นกีฬาที่ใช้เสียงบรรยายน้อยแบบเดียวกับสนุกเกอร์ แต่ต้องใช้ความรู้เยอะ คือต้องรู้ทั้งเกม วงสวิง รู้ประวัติศาสตร์กอล์ฟทั้งสนาม ผู้เล่น ประวัติการแข่งขัน รู้กฎกติกามารยาท ยิ่งถ้ามีความรู้เรื่องการดีไซน์สนาม การกําหนดคุณสมบัติของสนามเวลามีทัวร์นาเมนท์สําคัญด้วยก็จะยิ่งดี สรุปก็คือต้องรู้ให้มากที่สุด ยิ่งมีความรู้มากยิ่งดี ส่วนกีฬาประเภทอื่นก็ต้องพากย์ตามธรรมชาติของกีฬาประเภทนั้นๆ เช่น ถ้าพากย์ตะกร้อ หรือวอลเล่ย์บอลก็ต้องออกแนวล้งเล้งหน่อย เพราะมีไคลแมกซ์ทุกๆ 15 วินาที ถ้าเราไปพากย์เทนนิส กอล์ฟ หรือสนุกเกอร์ด้วยมู้ดของการพากย์วอลเล่ย์บอล แบบนี้วันรุ่งขึ้นก็หางานใหม่ได้เลย”

     “สําหรับนิยามการเป็นผู้บรรยายกีฬากอล์ฟที่ดีนั้น อย่างแรก ต้องรอบรู้เรื่องกีฬาที่ตัวเองพากย์ ยิ่งถ้าเล่นกีฬาที่ตัวเองพากย์อยู่ในระดับเล่นได้ดีมากด้วยก็ยิ่งดี การเล่นเก่งจะทําให้คนพากย์คิดได้เท่าคนเล่น  เวลาวิจารณ์หรือแสดงความเห็นจะได้ไม่ผิด...อย่างที่สอง มีภาษาพูดที่ดี อย่างที่สาม เป็นคนทันโลกทันสมัยทันเหตุการณ์ และประการสุดท้าย รู้กาลเทศะ รู้ทุกอย่างยกเว้นกาลเทศะ เป็นนักพากย์ชั้นดีไม่ได้”

 

ปัจจุบันคุณพิศณุ นิลกลัด เป็นพิธีกร คอมเม้นท์เตเตอร์ ผู้บรรยายกีฬาที่ช่อง 3 

 

ดร.จุฑา ติงศภัทิย์

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 29 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : ฟุตบอล 

 

“การที่จะเป็นนักพากย์ที่ดีนั้น เราต้องมีการเตรียมตัวที่ดี มีความรู้ และที่สําคัญคือเราต้องไม่ดูถูกคนดู”

     อีกบทบาทหนึ่งของ ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ ก็คือ กรรมการผู้อํานวยการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันนี้เขายังคงทําหน้าที่เป็นนักพากย์และพิธีกรอยู่ทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ ทุกๆ วันพฤหัสฯ เที่ยงคืน เราจะพบเขาใน เอเชียน ทัวร์ วีคลี่ และแอล พีจีเอ  

      “เริ่มแรกเลยผมพากย์ฟุตบอลกับเทนนิสอยู่ก่อนแล้ว และมีโอกาสได้เล่นกอล์ฟอยู่กับคุณพิษณุ คุณพิษณุก็เลยชักชวนมาลองพากย์กอล์ฟ เพราะช่วงนั้น ดร.ประสม สถาปิตานนท์ ท่านอายุมากแล้ว  ในช่วงแรกผมเข้ามาทําบทพรีวิวก่อนแข่ง และเริ่มเข้ามาพากย์จริงจังในปี 2537”

      “การพากย์นั้นมีเทคนิคเหมือนกัน ส่วนใหญ่เวลาจะพากย์เราก็ต้องเตรียมตัว อีกอย่างบางสนามเราเคยไปเล่น เราก็จะรู้ว่าเป็นยังไง อย่างเซนต์ แอนดรูว์ส, ออกัสต้า  เรามีประสบการณ์จากการที่ได้สัมผัสสนามจริงมาแล้วเราก็นํามาพากย์ ในการพากย์ครั้งแรกนั้นพากย์คู่คุณพิษณุ เขาก็จะบอกเราว่าจังหวะจะโคนในการพากย์เป็นยังไง พากย์บริทิช โอเพ่น เสื้อแคดดี้เบอร์ 1 เขาเอาไว้ให้แชมป์เก่า เราก็รู้ว่าคนไหนมาซ้อมไว้ก่อน คุณพิษณุเขาจะรู้ สนใจ ประสบการณ์ตรงนี้ที่เราเคยดู ได้ดูนานๆ เราก็จะรู้ข้อมูลเหล่านี้” 

ปัจจุบันดร.จุฑา ติงศภัทิย์ เป็นผู้บรรยายกีฬาอยู่ทางช่อง 7 

 

อภิชาต นันทเทิม

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 26 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : กอล์ฟ

 

“การพากย์จะดีหรือไม่ดีนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการวัดโดยมหาชน...นักพากย์ทุกคนต้องได้รับคําชม และถูกคําด่า”

การเป็นผู้บรรยายกอล์ฟของ อภิชาต นันทเทิม นั้นถือเป็นงานเสริม แต่หน้าที่หลัก หรืองานประจําของเขาคือ กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จํากัด (มหาชน)...

      “ผมเริ่มเข้าพากย์จริงๆ ประมาณปี 1990 ซึ่งเข้ามาพากย์ เพราะเรามีรายการถ่ายทอดกันเอง ผมได้ลงทุนทําธุรกิจกับครอบครัวเกี่ยวกับกอล์ฟชื่อ “ไพร์มไทม์ เน็ทเวิร์ค” รับถ่ายทอดกอล์ฟทางช่อง 3, ช่อง 9 และไอทีวี  สมัยก่อนนั้นได้คุณศุภพร มาพึ่งพงษ์ มาช่วยพากย์  ผมเชิญคุณศุภพรมาพากย์กอล์ฟ และคุณศุภพร ก็เชื้อเชิญผมให้ ลองพากย์ ...คุณศุภพร ถือว่าเป็นครู เขาสอนผมเรื่องเทคนิคการบรรยายต่างๆ พากย์รายการของตัวเองไม่ถึงปี ทางไอบีซี (ก่อนที่จะมาเป็นยูบีซี) ก็ติดต่อมา ว่าเขาขาดคนพากย์กีฬากอล์ฟ อยากให้เราไปช่วยพากย์หน่อย ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น”

       “การพากย์กอล์ฟเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เป็น Professional การเป็นนักพากย์นั้นมีศิลปะหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ การบรรยายกอล์ฟ บรรยายกีฬา ผมเชื่อว่าหลักสําคัญของกีฬาทุกประเภท คือผมพาคุณไปดูข้างสนาม ต้องสื่อภาษาให้ผู้ชมผู้ฟังจินตนาการภาพได้ การที่จะพาเขาไปนี่ คือต้องพาผู้ชมเข้าไปดูใกล้ชิดที่สุด...   ซึ่งการพากย์จะดีหรือไม่ดีนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการวัดโดยมหาชน คือผู้ชม นักข่าว สื่อมวลชน เป็นคนที่ตัดสินเรา นักพากย์ทุกคนต้องได้รับ    คําชม และถูกคําด่า”

ปัจจุบันคุณอภิชาติ นันทเทิม เป็นผู้บริหารระดับสูง Golf Channel Thailand

 

กิตติศักดิ์ ชลศึกษ์

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 19 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : กอล์ฟ

“กอล์ฟเป็นกีฬาที่เน้น Information แล้วหาจังหวะทําให้ผู้ชมสนุกไปกับเกม”  

“แรกเริ่มเดิมทีเข้ามาทําสคริปต์กีฬาให้คนอื่นเขาพากย์ ที่ไอบีซี ตอนนั้นทําให้กับ อ.สุวัจน์ กลิ่นเกษร และหลังจากที่ไอบีซี เปลี่ยนเป็น ยูทีวี ผมก็เริ่มมาพากย์กอล์ฟ ครั้งแรกพากย์ร่วมกับ ดร.ประสม สถาปิตานนท์ ซึ่งเปรียบเสมือนครู   ที่สอนผมให้พากย์กอล์ฟ” 

      “พากย์ครั้งแรกรายการยูโรเปี้ยน ทัวร์กับ ดร.ประสม ตื่นเต้นมาก เพราะว่ามันมี case ของกฎกติกาเกิดขึ้นเยอะ ดร.ประสมจึงสอนผมว่า หากคุณไม่แน่ใจในเรื่องของกฎกติกา ให้คุณค่อยๆ ฟังผู้บรรยายฝรั่งเขาจะบอกว่า กฎกติกาที่เกิดขึ้นใช้ข้อไหน อย่างไร ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้จากตรงนั้นไปเรื่อยๆ สถานการณ์บางสถานการณ์ไม่ได้ใช้กฎเพียงข้อเดียว มันต้องผสมผสานกันหลายข้อ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจกอล์ฟ  เข้าใจกฎกอล์ฟ ซึ่งการเข้าใจกฎกอล์ฟมันเหมือน การทําสูตรคูณ หรือสูตรคณิตศาสตร์ เพราะเราต้องหาสมการออกมาให้ได้”  

“การพากย์กอล์ฟชายและกอล์ฟหญิงนั้นฟีลลิ่งไม่ต่างกัน กฎกติกาข้อเดียวกัน เกมคล้ายๆ กัน แต่เราจะเห็นว่ารูปแบบการเล่นจะแตกต่างกัน ผู้ชายอาจจะเล่นเกมที่ดุดันกว่า...พาร์ 5  ต้อง 2 ออน พาร์ 4 สั้นต้องตีออนให้ได้ ต้องเอา     อีเกิ้ลมากกว่าเบอร์ดี้...ในขณะที่ผู้หญิงเราเห็นโอกาสตีพาร์ 5 สองออนไม่เยอะนัก จะเป็นเกมที่ไปเรื่อยๆ แต่สนุก”

ปัจจุบันคุณกิตติศักดิ์ ชลศึกษ์ เป็นผู้บรรยายกอล์ฟทางทรูวิชั่น 

 

กฤษฎิน สุวรรณบุปผา

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 20 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : ฟุตบอล

 

“เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเล่นกอล์ฟมากขึ้น เรื่องเทรนด์แฟชั่นต่างๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น และที่จะสนุกกว่าฝ่ายชายก็คือเรื่องของแฟชั่นแอล พีจีเอมีสีสันของแฟชั่นเยอะ อย่าง พอลล่า ครีมเมอร์, นาตาลี กัลบิส ดึงดูดให้คนมาดู เหมือนเป็นเซ็กซี่ สตาร์ของทัวร์”

ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะไม่ได้เห็นหน้าค่าตาเขาอ่านข่าวกีฬาทางไอทีวีแล้ว แต่หากคุณกดไปที่ยูบีซี สปอร์ตส อัพเดท เวลา 19.00 น. แล้วล่ะก็ รับรองเจอเขาแน่นอน...

      กฤษฎิน สุวรรณบุปผา เริ่มทํางานเป็นนักข่าวสายกีฬาตั้งแต่ไอทีวี ปี 1996  และไอทีวี มีนโยบายให้นักข่าวสลับหมุนเวียนกันออกไปทําข่าวแล้วกลับมานั่งอ่านข่าวทางหน้าจอโทรทัศน์ด้วย เขาเลยมีโอกาสได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกาศข่าว รองบรรณาธิการข่าวกีฬา และบรรณาธิการข่าวกีฬาทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และปัจจุบันเขามาปักหลักให้ความสุขกับคอกีฬาอยู่ที่ยูบีซี 

“กอล์ฟชายและหญิงนั้นมีความต่างกันในเรื่องความเข้าใจของผู้ชม ผู้ชมเห็นนักกอล์ฟชายจะจําง่ายกว่า      นักกอล์ฟหญิงที่อยู่ในแอลพีจีเอ ทัวร์...มีคนเปรียบเทียบว่า การพัฒนาของกอล์ฟชายในช่วง 10 ปีผ่านมาตั้งแต่ไทเกอร์เข้ามาแข่ง กระทั่งจนถึงปีนี้ กอล์ฟเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีตัวชูโรง มีคนติดตาม กระแสความนิยมมากขึ้น    แต่กอล์ฟหญิงนั้นมันเหมือนยุคเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ไทเกอร์เข้าวงการกอล์ฟมาใหม่ๆ และ 10 ปีต่อจากนี้ไปจะมีการพัฒนารวดเร็วกว่า 20-30 ปีที่แล้ว เพราะว่าคนเริ่มรู้จักกอล์ฟหญิงมากขึ้น อย่าง โซเรนสตัม, เวบบ์, โอชัว ฯลฯ  เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเล่นกอล์ฟมากขึ้น และที่จะสนุกกว่าฝ่ายชายก็คือเรื่องของแฟชั่นแอล พีจีเอมีสีสันของแฟชั่นเยอะ อย่าง  ครีมเมอร์, กัลบิส นั้นขายรูปได้ด้วย มันดึงดูดให้คนมาดู เหมือนเป็นเซ็กซี่ สตาร์ของทัวร์” 

ปัจจุบันคุณกฤษฎิน สุวรรณบุปผาเป็นผู้ประกาศข่าวทางช่อง 3 และผู้ดำเนินรายการทีมนี้พี่รัก

 

วันปีย์ สัจมาร์ค

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 19 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : อเมริกันฟุตบอล

“หน้าที่ของนักพากย์คืออยู่เป็นเพื่อนคนดู”  

ผู้บรรยายกีฬาที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องน้ำเสียง บวกกับหน้าตาที่เราคุ้นเคยจากการอ่านข่าวกีฬาทางช่อง 7 สี เป็นประจําทุกค่ำคืน... 

      โปรวันปีย์ สัจมาร์ค  หลังจากที่เขาแลนดิ้งสู่เมืองไทยเดือนกรกฎาคม 1997 เขาได้ก้าวเข้ามาเป็นนักพากย์อยู่ที่ไอบีซี (ยูบีซี ปัจจุบัน) ...อเมริกัน ฟุตบอล คือกีฬาประเภทแรกที่เขาได้พากย์  ช่วงนั้นเขาพากย์อยู่หลายชนิดกีฬา แต่มาลงตัวที่กอล์ฟ เพราะเป็นอะไรที่ตัวเขาคุ้นเคยและชอบที่สุดก็ว่าได้

      “การบรรยายกีฬาในแต่ละประเภท มีจังหวะในการบรรยายที่ไม่เหมือนกัน กอล์ฟเป็นกีฬาที่มีจังหวะน้อยมาก พากย์กอล์ฟแมทช์แรกคือ ยูเอส พีจีเอ ผมบรรยายคู่กับคุณศุภพร ครั้งแรกเราไม่ตื่นเต้น เพราะกอล์ฟเป็นอะไรที่เราคุ้นกว่า”   

     “การเป็นนักพากย์จําเป็นที่ควรต้องเล่นกอล์ฟเป็น การเป็นผู้บรรยายมีปัจจัยอยู่หลายส่วน รวมไปถึงเสียงด้วย แต่ความรู้เรื่องกอล์ฟเป็นสิ่งสําคัญ  ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าเกิดเข้าถึงนักกอล์ฟได้ เข้าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าถึงนักกอล์ฟที่ดูอยู่ที่บ้าน ว่าคนที่ดูอยู่ที่บ้านเขารู้สึกอย่างไร  ก็จะช่วยให้เราเป็น  ผู้บรรยายที่ดีขึ้น หน้าที่ของเราคืออยู่เป็นเพื่อนคนดู” 

ปัจจุบันคุณวันปีย์ สัจมาร์ค เป็นผู้ประกาศข่าวช่อง 7 และผู้บรรยายกอล์ฟทางทรูวิชั่น ผู้ดำเนินรายการ T-Off

 

สุภร ชัยะเวฬุ

ประสบการณ์บรรยายกีฬา :  22 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : กอล์ฟ

“ผมอยากเห็นนักกอล์ฟไทยเดินเหยียดไหล่กับนักกอล์ฟระดับโลกในการแข่งขันรายการใหญ่ ผมอยากเห็นกีฬากอล์ฟเป็นกีฬาประชาสัมพันธ์ประเทศ เป็นกีฬาที่ทําให้คนทั่วโลกรู้จักคนไทยมากขึ้น”

      อีกหนึ่งบทบาทนอกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารออนกรีนแล้ว สุภร ชัยะเวฬุ ยังเป็นผู้บรรยายกีฬากอล์ฟทางยูบีซี เขาบอกเราว่างานบรรยายกีฬาคืองานพิเศษ ที่ทําให้เขาเกิดการเรียนรู้...เป็นอะไรที่เขารักและสนุกที่จะทํา...

“ผมสัมผัสการพากย์ครั้งแรกกับการแข่งขัน บริทิช โอเพ่น ปี 1994  ผมพากย์ให้กับทางไอบีซี (ยูบีซี ปัจจุบัน) โดยการชักชวนของคุณศุภพร      ซึ่งตอนนั้นเขาชวนผมมาสังเกตการณ์ แล้วก็ให้ลองมานั่งในห้องพากย์ เราเห็นเขาพากย์ เราคิดว่าน่าจะทําได้ คุณศุภพร จึงแนะนําวิธีการพากย์ว่าควรทําอย่างไร ซึ่งเราก็พยายามทําตามที่เขาบอก  หลังจากนั้นผมมีความรู้สึกว่า  การพากย์กอล์ฟเป็นงานที่สนุกจริงๆ”

“คุณศุภพร สอนผมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นข้อมูล เราหาโอกาสที่จะสัมผัส แต่เราไม่ต้องไปท่องจําให้มันติดอยู่ในสมอง แต่ถ้าเราไปเห็นสิ่งต่างๆ เหตุการณ์ สถานการณ์ต่างๆ ด้วยตายิ่งดี เพราะสิ่งต่างๆ มันจะเข้าสมองเรามาเองโดยอัติโนมัติ แล้วพอถึงเวลามันจะพรั่งพรูออกมาตามจังหวะ”

ปัจจุบันคุณสุภร ไชยะเวฬุเป็นผู้บรรยายกอล์ฟทาง Golf Channel Thailand

 

โรจนสิทธิ์ มีนิจสิน 

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 20 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : กอล์ฟ

“ไทเกอร์ เป็นนักกอล์ฟที่มีอะไรพิเศษ

อยู่ตลอดเวลา”

      โรจนสิทธิ์ มีนิจสิน เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงของกีฬามาพอสมควร ปัจจุบันเขาเป็น Communication Manager บริษัท อาดิดาส (ประเทศไทย) จํากัด  

      “ก่อนหน้าที่ผมจะมาอยู่ที่อาดิดาส ผมเป็นพนักงานประจําอยู่ที่ยูบีซี ฝ่าย Sports Programe  คุณหนึ่ง กิตติศักดิ์ และคุณยศวิน ได้ชวนให้ผมมาลองพากย์กอล์ฟ ตั้งแต่ปี 1996”

      “กอล์ฟเป็นกีฬาที่ท้าทาย มีความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะสนามที่เราเล่นอยู่ทุกวัน เราเล่นกี่ครั้งก็ไม่สามารถทําให้เหมือนเดิม 100%”

      “ไทเกอร์ เป็นนักกอล์ฟที่ไม่ธรรมดา ดูแล้วสนุก เวลาเชียร์ เชียร์ขึ้น เราเชียร์เขาเพราะว่าเขาชอบทําอะไรที่พิเศษมากๆ เหลือเชื่อมากๆ ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสําเร็จเยอะแล้ว แต่ผมเชื่อว่าคนดูมากมายสนุกที่ได้เห็นไทเกอร์ทําสถิติ       ไทเกอร์ เป็นนักกอล์ฟที่มีอะไรพิเศษอยู่ตลอดเวลา”

ปัจจุบันคุณโรจน์สิทธิ์ มีนิจสิน เป็นผู้บรรยายกอล์ฟทางทรูวิชั่น

 

ยศวิน ปราชญ์นคร

ประสบการณ์บรรยายกีฬา : 24 ปี

กีฬาแรกที่บรรยาย : บาสเกตบอล

“กอล์ฟเป็นเกมที่ช้า เราต้องรู้จังหวะ”  

ยศวิน ปราชญ์นคร นักกอล์ฟมือซิงเกิ้ล ที่ครั้งหนึ่งเขาเกือบที่จะได้เป็นโปรไปโลดแล่นอยู่ในทัวร์...แต่โชคชะตานําพาให้เขาต้องมาส่งเสียงอันสุขุม นุ่มลึกอยู่กับเกมกอล์ฟ ทางยูบีซี 

“โดยพื้นฐานผมเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลมาก่อน เรียนมาทางพลศึกษา ที่จุฬาฯ เป็นนักกีฬาบาสฯ ของสโมสร ธ.กรุงเทพ และเล่นทีมชาติ  ดร.จุฑา และ  อ.สุวัจน์ กลิ่นเกษร ได้ชวนให้มาบรรยายกีฬา เริ่มบรรยายบาสฯ เอ็นบีเอ ที่ช่อง 7 ประมาณปี 1992 หลังจากที่บรรยายอยู่ช่อง 7 ได้ 2 ปี เคเบิ้ลทีวีก็เกิดขึ้น  และต้องการนักพากย์ อ.สุวัจน์ ซึ่งบรรยายอยู่ที่ยูทีวี จึงชวนให้ไปเป็นนักพากย์ที่นั่น หลังจากที่พากย์บาสฯ อยู่ระยะหนึ่ง มีโอกาสได้มาพากย์กอล์ฟ  อีกทั้งในช่วงนั้นผมหันมาสนใจกีฬากอล์ฟ และเราคิดว่าเราสามารถเล่นได้ในระดับที่เราพอใจ ผมเคยไปสอบทัวร์ริ่ง โปรมาด้วย ครั้งแรกที่พากย์กอล์ฟรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี...น้ำเสียง จังหวะจะโคนที่ใช้นั้นแตกต่างจากการพากย์บาสฯ เพราะกอล์ฟเป็นเกมที่ช้า เราต้องรู้จังหวะ ว่าตรงไหนควรพูด ตรงไหนควรเงียบ  ควรเน้นเสียงตรงไหน อะไรที่เราควรนําเสนอให้แก่ผู้ชม เพราะผู้บรรยายภาษาอังกฤษ พูดมา  เราต้องกรองออกมาเป็นภาษาที่สื่อสารแล้วเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน”

ปัจจุบันคุณยศวิน ปราชญ์นครเป็นผู้บรรยายกีฬาทางทรูวิชั่น 

 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8