รู้ Spin Loft สั่งลด เพิ่มสปินได้

เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

29 Apr 2017
  • Shares:

 

    เท่าที่ผมจำความได้ เจ้าอัตราสปินมันเข้ามามีบทบาทมากๆ กับนักกอล์ฟตั้งแต่เครื่อง Launch Monitor เครื่องแรกๆ ที่วัดอัตราสปินได้แม่นยำถูกนำมาใช้ในวงการกอล์ฟ ในความทรงจำของผมยุคสมัยก่อนปี 2000 เมื่อเราพูดถึงประเด็นอัตราสปิน นักกอล์ฟมักจะคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้ตีเหล็กแล้วลูกกอล์ฟถอยหลัง ในสมัยนั้นคำแนะนำง่ายที่สุด คือหนึ่งใช้ลูกกอล์ฟที่เป็นพวกลูก Balata สองตีให้มีรอยไดวอทหน้าลูกให้ได้ สามหมั่นทำความสะอาดร่องเหล็กก่อนตีเสมอ ผมจำได้ว่ายุคนั้นเรายังไม่ค่อยได้พูดถึงอัตราสปินของไดรเวอร์เท่าไหร่นัก สมัยนั้นคำแนะนำในการตีไดรเวอร์ยังมีการสอนกันต่อๆ มาว่า วิถีไดรเวอร์แบบโปร ต้องตีในลักษณะที่ลูกค่อยๆ ทะยานขึ้น แล้วก็โค้งหงายเชิดขึ้นในช่วงปลาย คล้ายๆ กับการทะยานขึ้นของเครื่องบิน นี่คือวิถีลูกที่เค้าว่ากันว่าเป็นวิถีแบบโปร แต่หลังจากผ่านพ้นปี 2000 ไปแล้ว ในนิตยสารกอล์ฟหรือเวบไซท์ต่างๆ ที่เป็นที่ระดมสมองกันของเหล่าบรรดาฮาร์ดคอร์กอล์ฟเฟอร์ ที่มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์ ด้านวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเวบบอร์ดของกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ในยุคนั้น เริ่มมีการพูดกันว่า การตีไดรเวอร์แบบนั้นไม่ใช่วิถีลูกที่จะตีได้ไกลที่สุด วิถีไกลที่สุดจะต้องเป็นลักษณะพุ่งออกไปในมุมที่เหมาะสม แล้วก็ค่อยๆ ทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อนลูกหมดแรงค่อยๆ โค้งคว่ำลงสู่พื้นในมุมราบ ก่อนที่จะแตะพื้นแล้ววิ่งต่อบนพื้นหญ้า ยุคนั้นยังอธิบายว่า วิถีลูกแบบเก่าที่เห็นโปรตีกัน ช่วงปลายลูกกอล์ฟโค้งหงายขึ้นฟ้า อาการแบบนี้คืออาการที่ลูกกอล์ฟมีอัตราสปินเยอะเกินไปหรือเรียกอาการนี้ว่า "บอลลูน"   ส่วนวิถีลูกที่ช่วงปลายค่อยๆ โค้งคว่ำลงในมุมราบ ก่อนตกพื้น คือวิถีลูกที่มีอัตราสปินที่เหมาะสม

 

 

 

    หลังจากที่มีการพูดถึงประเด็นของสปินในการตีไดรเวอร์ก็เริ่มมีการกล่าวถึงกันมากขึ้น ในหมู่นักกอล์ฟฮาร์ดคอร์ทั้งหาย และบริษัทผลิตลูกกอล์ฟก็เริ่มตื่นตัว หาทางผลิตลูกกอล์ฟที่ช่วยทำให้อัตราสปินในการตีไดรเวอร์ต่ำลง ซึ่งมันก็ไม่ได้ง่ายนัก โดยเฉพาะลูกกอล์ฟโครงสร้างโบราณในอดีต ถ้าตีเหล็กสปินจัด ไดรเวอร์ก็จะจัดตามไปด้วย ตีไดรเวอร์แล้วลูกตกไม่ค่อยวิ่งนัก จนหลังปี 2000 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างลูกกอล์ฟเป็นแบบใหม่ แบบ Solid Core  ซึ่งถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้  การสร้างลูกกอล์ฟให้ตีเหล็กสปินจัด ตีไดรเวอร์สปินต่ำ ก็เริ่มมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น

    แต่แม้ว่าโครงสร้างลูกกอล์ฟแบบใหม่ จะสามารถออกแบบให้ไดรเวอร์สปินต่ำ เหล็กสั้นสปินสูงได้ แต่ก็ยังมีนักกอล์ฟอีกหลายคนที่ยังคงมีปัญหากับ ไดรเวอร์สปินสูง เวดจ์สปินสูงไม่พอ  

     ผมมาเล่นกับเรื่องสปินเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ตอนที่ซื้อเครื่อง Vector Launch Monitor เข้ามาใช้งานในนิตยสารกอล์ฟเฟอร์ออนไลน์ ตอนนั้นฟิตจัดตระเวนจัดกิจกรรมโดยใช้เครื่อง Vector ไปทั่ว และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอัตราสปินกับนักกอล์ฟทุกคนที่ผมมีโอกาสคุยด้วยถึงความสำคัญของอัตราสปิน ผมคลุกคลีกับ Launch Monitor ตั้งแต่นักกอล์ฟที่มาลองเครื่อง Launch monitor สนใจถามแต่เรื่องความเร็วหัวไม้กับระยะทางที่ตีได้เท่านั้น แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนผมได้เครื่อง FlightScope X2 มาใช้งานเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และก็เหมือนเคย ผมก็ตระเวนจัดกิจกรรมไปทั่วเมืองไทยเหมือนกัน แต่ครั้งนี้นักกอล์ฟเริ่มให้ความสนใจเรื่องอัตราสปินมากขึ้น หลังตีไดรเวอร์เสร็จมักจะขอดูค่าอัตราสปินว่าเท่าไหร่ จนระยะหลังๆ ผมไม่ค่อยจะต้องอธิบายแล้วว่าอัตราสปินที่มากเกินไปทำให้เกิดอะไรขึ้นในการตีไดรเวอร์ แต่ผมต้องอธิบายว่าแล้วจะทำอย่างไรให้อัตราสปินไดรเวอร์ต่ำได้ ซึ่งทางเลือกตอนนั้นมีอยู่หลายวิธี ตั้งแต่การใช้ก้านแข็งขึ้น ก้านจุดดีดสูงขึ้น ลูกกอล์ฟเปลือกแข็ง แต่แกนนุ่ม ไดรเวอร์องศาต่ำ แต่สุดท้ายผมก็มักจะสรุปว่า เทคนิคการตีสำคัญที่สุด ถ้ารู้เทคนิคการตี จะทำให้ตีไดรเวอร์แล้วให้อัตราสปินต่ำติดตัวไปชั่วชีวิต ไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์

     จนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว FlightScope ริเริ่มการอบรมการใช้เครื่อง FlightScope โดยตั้งเป็นโปรเจ็ค FlightScope Academy ซึ่งจะมีการสอนการใช้งาน FlightScope แบบเชิงลึก ใช้วิเคราะห์กันแบบจริงๆ จัง  ซึ่งต้องมีการคำนวณตัวแปรต่างๆ หลายตัว  หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ Spin Loft ซึ่งเรื่องนี้เอง เป็นเรื่องที่ผมมองว่า น่าจะทำให้คนมองภาพอัตราสปินได้ชัดเจนขึ้น และจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาเรื่องสปินได้อย่างยั้งยืน และนำไปใช้อธิบายการเกิดสปินในการตีไม้กอล์ฟทุกอันในถุงได้ มาทำความรู้จักตัว Spin Loft กันดีกว่า

 

 

    เจ้าตัว Spin Loft ตัวนี้ เป็นมุมที่เกิดขึ้นระหว่าง Dynamic Loft กับ Angle of Attack ซึ่งมีสูตรในการหา กล่าวคือ

            Spin Loft = Dynamic Loft - Angle of Attack

 

    ขอย้ำว่าให้นักกอล์ฟทำความเข้าใจกับสูตรข้างบนนี้ดีๆ ถ้าเข้าใจกันแล้ว จะทำให้ท่านสามารถควบเจ้าตัวสปินนี้ได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะตีด้วยไม้อะไรในถุงก็ตาม

     ในเอกสารประกอบการสอนจะมีการคำนวณอัตราสปินในการตีไดรเวอร์หรือเหล็ก เมื่อรู้ค่าของ Spin Loft และความเร็วของหัวไม้ หรือหัวเหล็ก ยกตัวอย่างเช่น

            ความเร็วไดรเวอร์ 100 MPH ทุก  1 Spin Loft = อัตราสปิน 230 รอบต่อนาที

            ความเร็วเหล็ก 90 MPH ทุก 1 Spin Loft = อัตราสปิน 270 รอบต่อนาที

หมายเหตุ : ที่ความเร็วหัวไม้หรือหัวเหล็กที่แตกต่างไป ค่า 1 Spin Loft จะมีค่าเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เป็นค่าคงที่ โดยอัตราสปินของ 1 Spin Loft จะเพิ่มขึ้น เมื่อความเร็วหัวไม้เพิ่มขึ้น แต่ผมไม่สามารถเอาข้อมูลมาลงทั้งหมดได้ เพราะมันเป็นตัวเลขที่ทาง FlightScope ใช้อยู่ในเอกสารประกอบการสอนสำหรับคนที่ลงเรียน FlightScope Certification

      ค่าข้างบนนี้เป็นค่าอัตราสปินโดยประมาณ ใช้เป็นไอเดียการฟิตติ้งอุปกรณ์กอล์ฟ หรือใช้ในการปรับเปลี่ยนเทคนิคในการสวิงให้กับนักกอล์ฟ และใช้ในการอธิบายเหตุผลว่า ทำไมการตีไดรเวอร์ซึ่งต้องการให้อัตราสปินต่ำจึงต้องตีในลักษณะ Hit Up ส่วนการตีเหล็กเพื่อให้อัตราสปินสูงจึงต้องตีในลักษณะ Hit Down

 

      มาดูตัวอย่างการคำนวณกัน ตรงส่วนนี้สำคัญมาก ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถคุมสปินในการตีไม้ทุกอันในถุงอยู่หมัดหมด

 

 

       ดูรูปที่ 1 และ 2  ประกอบ จะเห็นว่า ทั้ง 2 รูปมีค่า Dynamic Loft (องศาจริงตอนไดรเวอร์เข้ากระทบลูก) เท่ากัน คือ 15 องศา แต่มุมในการเข้าอิมแพค (Angle of Attack) ต่างกัน

            

            รูปที่ 1 มุมเข้าแบบ Hit Down ค่า Spin Loft = 15-(-2) = 17 องศา

            รูปที่ 2 มุมเข้าแบบ Hit Up ค่า Spin Loft = 15-5 = 10 องศ่า

            อย่างที่บอกไว้ว่า เราสามารถประเมินอัตราสปินได้คร่าวๆ เมื่อเราทราบค่า Spin Loft เรียบร้อยแล้ว  

     ถ้าสมมุตินักกอล์ฟทั้งคนนี้ความเร็วหัวไม้ 100 MPH ทั้งคู่

           การตีแบบที่ 1 จะทำให้เกิดแบ็คสปิน = 230X17 = 3,910 RPM

           การตีแบบที่ 2 จะทำให้เกิดอัตราสปิน = 230X10 = 2,300 RPM   

 

            จะเห็นว่า Spin Loft ของการตีแบบ Hit Down จะสูงขึ้น ค่าอัตราสปินก็จะสูงด้วย การตีเหล็กให้สปินจัด จึงควรตีในลักษณะ Hit Down  

            ในทางตรงกันข้ามจะเห็นว่า Spin Loft ของการตีแบบ Hit Up จะต่ำลง ค่าอัตราสปินก็จะต่ำด้วย การตีไดรเวอร์ให้สปินต่ำ จึงควรตีในลักษณะ Hit Up นั่นเอง

       ส่วนการตีแฟร์เวย์ วูดบนแฟร์เวย์ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 ไอเดียในการใช้งาน คือ หนึ่งตีแบบกวาดๆ หรือตีแบบ Hit Down หากมองจากสูตรนี้ พอจะอธิบายว่า เราสามารถตีได้ทั้ง 2 แบบ ถ้าตีแบบกวาดๆ ค่า Spin Loft น้อย เหมาะที่จะตีแฟร์เวย์ วูดให้ตกแล้ววิ่งต่อ แต่ถ้าตีแบบ Hit Down ค่า Spin Loft สูงขึ้น เหมาะสำหรับการตีให้ลูกกอล์ฟตกแล้วไม่วิ่งมากนัก เช่นตีช็อต 2 พาร์ 5 ขึ้นกรีนเป็นต้น

       ประโยชน์ของเรื่อง Spin Loft สามารถนำไปใช้ในการฟิตติ้งไม้กอล์ฟ หรือปรับลักษณะการตีของนักกอล์ฟ เพื่อเพิ่มหรือลดอัตราสปินก็ตาม

Spin Loft ใช้เพื่อเพิ่มสปิน

     นักกอล์ฟที่ต้องการตีเหล็กให้สปินจัด ควรดาวน์สวิงให้เหล็กพุ่งลงไปกระทบลูกในลักษณะ Hit Down ซึ่งเราเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ว่าต้องพยายามตีกัดให้เกิดไดวอทหน้าลูก จะทำให้สปินจัด 

      นักกอล์ฟที่มีปัญหาตีเหล็กแล้วอัตราสปินน้อยเกินไป อาจเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือการตีเสย ซึ่งมักเกิดในนักกอล์ฟมือใหม่หรือนักกอล์ฟมือเก่าที่ไม่เคยถูกฝึกให้ Hit Down เมื่อตีเหล็กเสย Spin Loft ก็มีโอกาสที่จะน้อยลง อัตราสปินก็จะน้อยตามไปด้วย หรือนักกอล์ฟตีเหล็กในลักษณะอิมแพ็คแล้วดันไปข้างหน้า แทนที่จะปล่อยให้เหล็กเคลื่อนที่ไปตามโค้งของสวิง จะทำให้มุมเข้ากระทบลูกหรือ Angle of Attack มีลักษณะเป็นแบบกวาดๆ ค่า Spin Loft อาจมากกว่ากว่าการตีแบบเสย แต่ก็ยังน้อยกว่าการตีแบบ Hit Down ทำให้อัตราสปินในการตีเหล็กอยู่ในค่าที่ไม่สูงนัก

       หรือนักกอล์ฟที่มีปัญหาชิพแล้วไม่กินสปิน หรือสร้างสปินไม่จัด เกิดจากการชิพซึ่งมีลักษณะเวลาอิมแพ็คแล้วดันหัวเหล็กส่งตามลูกกอล์ฟออกไป ทำให้มุม Angle of Attack เป็นแบบกวาดๆ (สปินต่ำ) หากสามารถชิพในลักษณะสับลงไปให้หน้าเหล็กกัดดินหลังลูกกอล์ฟหลุดออกไป ซึ่งจะเป็นการชิพแบบ Hit Down ทำให้อัตราสปินมีค่ามากขึ้น

       นักกอล์ฟที่มีความสามารถในการเล่นเวดจ์ 60 หลากหลาย ให้วิ่งหรือหยุดก็ได้ จะรู้เทคนิคนี้ดีโดยสัญชาตญาน ถ้าอยากให้วิ่ง ต้องดัน ถ้าอยากให้หยุด ต้องสับ

       

Spin Loft ใช้เพื่อลดสปิน

       ผมเคยเห็นนักกอล์ฟหลายคนที่มีปัญหาตีไดรเวอร์แล้วสปินจัดหลายคนมาก ส่วนใหญ่แล้วเกิน 80% เกิดจากการตีไดรเวอร์ในลักษณะ Hit Down ซึ่งแน่นอนว่า ค่า Spin Loft คุณจะเยอะอย่างแน่นอน แนวทางที่ผมมักแนะนำเสมอคือ ให้ปรับเป็น Hit Up ซะ อัตราสปินก็จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ ผมลงรายละเอียดเพิ่มเติมให้ด้วยว่า ถ้าจะ Hit Up การตั้งทีก็ต้องสูงขึ้นด้วย การตั้งทีต่ำ จะทำให้ท้องสะดุดพื้น เป็นอุปสรรคขวางไม่ให้เกิดการ Hit Up อย่างสมบูรณ์ เมื่อนักกอล์ฟ Hit Up ได้ ค่า Spin Loft ของคุณก็จะลดลงเอง

     แต่ก็มีนักกอล์ฟหลายคนก็ไม่ยินยอมที่จะแก้ มักที่จะเลือกแก้โดยการหาก้านอัตราสปินต่ำ ไดรเวอร์ที่ให้อัตราสปินต่ำลง  ถามจากใจผมจริงๆ นะ มันแก้ได้ก็ไม่เยอะมากนัก หลักการของการเลือกก้านที่ให้อัตราสปินต่ำ มักเป็นก้านที่ Kick Point สูง ก้านที่แข็งๆ ทื่อ  ซึ่งการใช้ก้านลักษณะนั้น จะทำให้ Dynamic Loft ลดลงเล็กน้อย แต่ค่า Angle Of Attack ก็ยังคงเหมือนเดิม

     สำหรับนักกอล์ฟที่สามารถ Hit Up ได้ แต่อัตราสปินยังเยอะไป และลูกก็โด่งไปด้วย บางครั้งอาจเป็นเพียงแค่ใช้ก้านอ่อนเกินไป หรือ ก้าน Kick Point ต่ำไป ทำให้ก้านดีดตัวเพิ่มองศาตอนเข้ากระทบ ทำให้ค่า Spin Loft สูงไป 

 

     ตามรูปนี้ ค่า Spin Loft อยู่ที่ 14 องศา 

     ค่าสปินจะอยู่ที่ = 14X230 = 3,200 RPM ใช่มั้ยครับ

     ถ้าเปลี่ยนก้านให้แข็งขึ้น สวิงแบบเดิม สมมุติว่า Dynamic Loft ลดลงจาก 19 องศา มาเหลือ 15 องศา Spin Loft จะอยู่ที่ 10 องศา

     ค่าสปินจะอยู่ที่ = 10X230 = 2,300 RPM

 

       นักกอล์ฟอย่างรอรี่ แม็คอิลรอยก็ใช้เทคนิคการลด Spin Loft ในการตีไดรเวอร์ให้ไกลเหมือนกัน โดยค่า Angle of Attack ของรอรี่ย์ที่ FlightScope เคยบันทึกไว้ อยู่ที่ +5.4 องศา

 

       นักกอล์ฟระดับแชมป์ตีไกล World Re/Max เป็นอีกตัวอย่างที่สำคัญในการใช้ความรู้นี้ในการตีไกลให้สุดๆ ไปเลย โดยแต่ละคนล้วนมีความสามารถในการสร้างความเร็วหัวไม้ระดับ 140 MPH ขึ้นไป สามารถตีระยะแครี่ได้ 380 หลากันทั้งนั้น การตัดสินผลชนะกันของนักกอล์ฟเหล่านี้ อยู่ที่ใครจะตีให้ตกวิ่งได้มากกว่ากัน ซึ่งพวกนี้จะแข่งขันกันหาเทคนิคสร้างสปินในการตีไดรเวอร์ให้ต่ำ เพื่อทำให้หลังจากลูกตกพื้นแล้วจะวิ่งต่อมากๆ เพื่อทำสถิติตีไกล สูตรคร่าวๆ ของนักตีไกลระดับโลก เขาจะตีให้ค่า Launch Angle อยู่ราวๆ 13 องศาขึ้นไป โดยที่ Spin Loft ไม่สูงเกินไป ซึ่งวิธีการของนักกอล์ฟเหล่านี้ คือการใช้ไดรเวอร์องศา 3-6 องศา ตีด้วยมุมเสยประมาณ 7 องศาหรือมากกว่านั้น เพื่อให้ค่า Spin Loft ไม่สูงไป ทำให้ตีได้ระยะแครี่ไกล ตกแล้ววิ่งกระจายครับผม

     หวังว่าท่านนักกอล์ฟ เมื่อได้อ่านเทคนิคในบทความนี้ จะช่วยให้ท่านนักกอล์ฟสั่งสปินให้มากให้น้อยได้ดั่งใจครับ ขอให้โชคดีครับ

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

 

ติดตามข้อมูล ความรู้ต่างๆ จากเราได้ที่

https://line.me/R/ti/p/%40flightscope

หรือค้นหา ID "@flightscope" ที่ LINE หรือ LINE@ (กรุณาใส่ "@" ด้วย)

https://www.facebook.com/flightscopethailand/
 

 

29 / 4 / 2017

 

 

  Tags :  Golf Simulator ห้องซ้อมไดรฟ Launch Monitor Trackman FlightScope เครื่องวัดความเร็ว เครื่องวิเคราะห์สวิง X3

 

 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8