ทดสอบ FlightScope VS Trackman ตอนที่ 1

เรียบเรียงโดย เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

26 Sep 2016
  • Shares:

 

     เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ทำการทดสอบเครื่อง FlightScope กับ Trackman จริงๆ จังๆ หลังจากที่แวะไปหาโปรก็อตที่สนามไดรฟโพธาลัย ซึ่งโปรก็อตเคยบอกข้อมูลไว้หลายปีแล้ว ว่าเคยทดสอบอยู่เหมือนกัน ผลออกมาไม่แตกต่างกัน ในฐานะวิศวกรด้วยกัน เราเชื่อข้อมูลตามที่โปรก็อตเล่าให้ฟังครับ ไม่ได้มีข้อสงสัยอะไร เพราะตั้งแต่ทำงานร่วมกับโปรก็อตมาหลายโครงการตลอดระยะเวลา 10 ปี โปรก็อตเป็นโปรที่ชอบเก็บสถิติ วิเคราะห์ตัวเลขต่างๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาลูกศิษย์ของตัวเอง จนหลายๆ คน เป็นโปรชั้นนำในประเทศไทยขณะนี้

     อย่างไรก็ตามผมในฐานะวิศวกรก็อยากเห็นข้อมูลนี้ด้วยตาตัวเองเหมือนกัน ใครมาถามอีกจะได้ให้ข้อมูลที่มาจากตัวเองเป็นคนเห็นจริงๆ ได้ครับ

     การทดสอบเทียบ FlightScope กับ Trackman ไม่ใช่เรื่อง่ายๆ เพราะเราจะไม่สามารถตั้งกล้องให้แนวเซ็นเซอร์ของเครื่องอยู่แนวเดียวกับลูกกอล์ฟได้ ผมจึงต้องคิดหาวิธีการตั้งเครื่อง ซึ่งผมเลือกที่จะตั้งเครื่องเป็น 4 แบบด้วยกัน

แบบที่ 1 ให้เครื่อง Trackman อยู่ซ้าย FlightScope อยู่ขวา วางลูกไว้ตรงกลางระหว่าง 2 เครื่องนี้ แล้วให้เครื่องหันหน้าขนานกับ Target Line การตั้งวิธีนี้เครื่องไม่ได้หันหน้าเข้าหาลูก แต่ใช้วิธีวางให้เครื่องเป็นหน้ากระดานตั้งฉากกับเป้าหมาย

แบบที่ 2   ให้เครื่อง Trackman อยู่ซ้าย FlightScope อยู่ขวา วางลูกไว้ตรงกลางระหว่าง 2 เครื่องนี้ แล้วให้เครื่องหันหน้าเข้าหาลูกกอล์ฟ เพราะฉะนั้นเครื่องทางซ้ายแนวเป้าหมายจะชี้ไปทางขวา  เครื่องทางขวาแนวเป้าหมายจะชี้ไปทางซ้าย

แบบที่ 3 ให้เครื่อง FlightScope อยู่ซ้าย Trackman อยู่ขวา วางลูกไว้ตรงกลางระหว่าง 2 เครื่องนี้ แล้วให้เครื่องหันหน้าขนานกับ Target Line การตั้งวิธีนี้เครื่องไม่ได้หันหน้าเข้าหาลูก แต่ใช้วิธีวางให้เครื่องเป็นหน้ากระดานตั้งฉากกับเป้าหมาย

แบบที่ 4   ให้เครื่อง FlightScope อยู่ซ้าย Trackman อยู่ขวา วางลูกไว้ตรงกลางระหว่าง 2 เครื่องนี้ แล้วให้เครื่องหันหน้าเข้าหาลูกกอล์ฟ เพราะฉะนั้นเครื่องทางซ้ายแนวเป้าหมายจะชี้ไปทางขวา  เครื่องทางขวาแนวเป้าหมายจะชี้ไปทางซ้าย

 

     ในการทดลองครั้งนี้เป็นเฟสแรก ทดสอบเฉพาะการตีเหล็ก เพราะเป็นเรื่องง่ายสุด เราสามารถมองเห็นจุดตกได้ด้วยตาเปล่า  ผมใช้กล้องวัดระยะมาส่องดูจุดตกของลูกกอล์ฟในการตีแต่ละช็อตด้วย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระยะแครี่ลูกในแต่ละช็อตว่าข้อมูลถูกต้องมั้ย

     การทดลองครั้งนี้ได้ลูกศิษย์โปรก็อต มาตีเหล็ก 7 ให้ราว 80 ช็อต ในการทดสอบ ผมจะถามนักกอล์ฟในแต่ละช็อตด้วยว่าโดนเต็มมั้ย ไม่เต็มคิดว่าขาดไปกี่หลา พร้อมๆ กับการส่องกล้องวัดระยะดูลูกที่ตกลงพื้น แล้วค่อยกลับมาดูค่าที่ FlightScope และ Trackman ในระหว่างการเก็บข้อมูลไม่พบว่ามีความผิดปกติในเรื่องระยะที่ตีได้ จากการมองด้วยตาเปล่า การใช้กล้องวัดระยะส่อง และค่าที่ระยะทางที่ขึ้นมาจากทั้ง 2 เครื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำข้อมูลถูกต้องตามหลักวิชาการ ผมนำข้อมูลทั้งหมด มาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อทำสรุปข้อมมูลทั้งหมดอีกครั้งดังนี้

ความเร็วเหล็ก

     ความเร็วหัวเหล็กเฉลี่ยในการตีเหล็ก ทั้ง FlightScope และ Trackman อ่านได้ต่างกันเพียง 0.18% เท่านั้น โดย FlightScope อ่านค่าเฉลี่ยได้ 77.29 MPH ส่วน Trackman อ่านค่าเฉลี่ยได้ 77.15 MPH ( ต่างกัน 0.14 MPH)

ความเร็วลูกกอล์ฟ

     ความเร็วลูกกอล์ฟเฉลี่ยในการตีเหล็ก ทั้ง FlightScope และ Trackman อ่านได้ต่างกันเพียง 0.15% เท่านั้น โดย FlightScope อ่านความเร็วลูกกอล์ฟเฉลี่ย 103.99 MPH ส่วน Trackman อ่านความเร็วลูกกอล์ฟเฉลี่ย 103.84 MPH ( ต่างกัน 0.15 MPH)

SMASH FACTOR

     ค่า Smash Factor ทั้งเครื่อง FlightScope และ Trackman อ่านได้ต่างกันเพียง 0.035% โดย FlightScope อ่านค่า Smash Factor เฉลี่ย 1.3447 ส่วน Trackman อ่าน Smash Factor เฉลี่ย 1.3452 (ต่างกัน 0.0005)

ระยะทาง

     ระยะทางเฉลี่ย ทั้งเครื่อง FlightScope และ Trackman อ่านได้ต่างกันเพียง  0.53% โดย FlightScope อ่านระยะเฉลี่ยได้ 140.40 หลา ส่วน Trackman อ่านระยะเฉลี่ยได้ 139.65 หลา ( ต่างกัน 0.75 หลา)

  

  

     เรื่องมุมเหินกับอัตราสปิน ยังไม่ได้อยู่ในการทดสอบในเฟสนี้ เพราะการทดสอบทั้ง 2 เรื่องนี้ ต้องนำเครื่อง Vector หรือ เครื่องที่มีกล้องถ่ายภาพลูกกอล์ฟตอนพุ่งออกจากหน้าไม้มาร่วมทดสอบด้วย เพราะเครื่องนี้จะมองเห็นภาพชัดๆ ตอนลูกกอล์ฟพุ่งออกจากหน้าไม้ สามารถขีดเส้นหามุมเหิน ดูอัตราการหมุนของลูกกลับหลังว่ามากน้อยขนาดไหน และเพื่อให้รู้ว่า การวัดมุมเหินของแต่ละเครื่อง จะวัดโดยใช้ระยะทางของลูกกอล์ฟที่พุ่งออกไปแล้วไกลแค่ไหน ในการบอกค่า มุมเหิน (Launch Angle) ซึ่งมีเวลา ผมจะทำการทดสอบในเฟสที่ 2 ต่อไปครับ (เฟสนี้กว่าจะทดสอบเสร็จ ร่วม 3 ชั่วโมง)  จริงๆ แล้ว FlightScope เคยทำการทดสอบเรื่องนี้ให้ดูแล้วครั้งหนึ่งครับ แต่ใน Trackman ยังไม่เคยเห็นคลิปการทดสอบนี้

     ผลการทดสอบนี้ เพื่อให้ร้านฟิตติ้งทั้งหลาย นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการฟิตติ้งไม้กอล์ฟให้กับลูกค้าครับ โดยเฉพาะลูกค้าที่ฟิตติ้งอยู่หลายร้าน บางทีก็ไปร้านที่ใช้ FlightScope เป็นหลัก หรือร้านที่ใช้ Trackman เป็นหลัก ค่าที่ท่านเคยอ่านได้จากเครื่องใดๆ ก็ตาม ในเรื่องของความเร็วหัวไม้ ความเร็วลูกกอล์ฟ ระยะทาง แตกต่างกันน้อยมาก ถ้าปัดเศษทศนิยมที่เราสนใจ ขึ้น-ลง ตามหลักคณิตศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าเท่ากันเป๊ะๆ เลยครับ

 

     จริงๆ แล้ว เท่าที่มีโอกาสคุยกับวิศวกรไฟฟ้า  แผงวงจรไฟฟ้าและเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่นำมาใช้สร้าง เครื่อง Launch Monitor ของทั้ง 2 เครื่อง เพื่อให้มีความแม่นยำสูง ต้นทุนไม่ได้แพงมากมายขนาดนั้น ทั้ง 2 เครื่อง 2 แบรนด์ ราคาที่ขายกันอยู่ ก็นับว่าแพงเกินกว่าต้นทุนการผลิตมากมายระดับหนึ่งอยู่แล้วครับ แต่ที่มันต้องแพง เพราะมันเป็น Know-How ครับ ขึ้นอยู่กับใครจะชารท์ค่า Know-How + Marketing แพงกว่ากัน 

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

26 / 9 /2559

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

Official Line : @golferonline

Tags : Launch Monitor Radar 




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8