ให้เท้าคุณเลือกรองเท้าที่เหมาะสม

01 Jul 2016
  • Shares:

                                                            

            ถ้าใครเคยดูหนังแฮร์รี่ พอตตอร์ คงเคยได้ยินวลีว่า ไม้กายสิทธิ์เป็นผู้เลือกนายของมัน ฟังแล้วคล้ายๆ กับสิ่งที่กำลังเขียนต่อไปนี้ แต่คงไม่ถึงกับจะบอกว่าให้เท้าคุณเลือกรองเท้าเอง แต่อยากจะบอกว่า ให้เท้าคุณเป็นคนบอกว่าคุณควรใส่รองเท้าแบบไหน

            ผมมีโอกาสไปทำฟิตติ้งรองเท้าวิ่งที่ร้าน asics ซึ่งอยู่บนชั้น 2 ของห้างเมกาบางนา ตั้งแต่ช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ  


            จำได้ว่า ตอนนั้นได้ยินจากเพื่อนซึ่งเป็นหุ้นส่วนของที่ร้านนี้บอกว่า มีระบบฟิตติ้งรองเท้าวิ่ง ก็คิดไปเองว่า คงเป็นระบบที่ใช้กล้องถ่ายภาพด้านหลังของขาเราขณะวิ่งบนสายพาน ซึ่งวิธีนั้นผมเคยทำมาแล้วเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว แต่เพื่อนผมเค้าบอกว่า มันมีเครื่องมือมากกว่านั้น ที่ asics มีเทคโนโลยีการสแกนรูปเท้าเราแบบ  3-D Foot-Scanning  ซึ่งที่นี่เรียกว่า ระบบ   FOOT ID System เจ้าตัวระบบนี้เองแหละจึงเป็นที่มาของหัวข้อที่เราขึ้นไว้คือ ให้เท้าคุณเป็นคนเลือกรองเท้าเอง

            ท่านทั้งหลายที่ตอนนี้หันมาชื่นชอบการอกกำลังกายด้วยวิธีการวิ่ง อาจจะเคยมีประสบการณ์การเลือกรองเท้าวิ่งแล้วไม่ถูกใจสักที ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวคิดในการเลือกที่แตกต่างกัน แต่หากคุณได้มาที่ asics แล้ว แนวความคิดในการเลือกรองเท้าคุณจะชัดเจนมากขึ้น เพราะทาง asics ได้นำเอาหลักทางวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ทำให้คุณตัดสินใจเลือกรองเท้าอย่างมีเหตุผล และมั่นใจระดับหนึ่งว่า มันจะต้องเป็นรองเท้าที่ใช่สำหรับคุณแน่ๆ  

            ปัจจุบันการเลือกรองเท้าวิ่งสมัยใหม่ๆ เรามักจะต้องดูข้อมูลของธรรมชาติของเท้าเราประกอบด้วย ว่าเรามีลักษณะเท้าเป็นแบบไหน ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ

            1.Normal Arch

            2.High Arch

            3.Flat Arch

          ซึ่งวิธีการตรวจสอบว่าเท้าคุณเป็นรูปแบบไหน มีวิธีการง่ายๆ ซึ่งเรียกว่า Wet Test เขาจะแนะนำให้คุณเอาเท้าคุณเองไปจุ่มในน้ำให้พอเปียกหมาดๆ ย้ำว่าหมาดๆ นะ อย่างชุ่มมากเกินไป  หลังจากนั้นเอาเท้าของคุณมาปั้มลงบนกระดาษอะไรก็ได้ อาจจะกระดาษ A4 หรือหนังสือพิมพ์  การปั้มก็เสมือนเท้าเป็นตรายางอันหนึ่ง แล้วลองดูว่ารูปเท้าของคุณจะขึ้นมาเป็นรูปไหน

 

          1.Normal Arch

          รอยปั้มเท้าเราที่เราเห็นบนกระดาษ จะมีคอคอดบริเวณช่วงกลางฝ่าเท้า แต่ไม่มาก ความกว้างของคอคอดแคบกว่าช่วงส้นเท้านิดๆ

            2.High Arch

          รอยปั้มเท้าเราที่เราเห็นบนกระดาษ จะมีคอคอดให้เห็นชัดเจนช่วงกลางเท้า บางคนอาจคอดจนรอยปั้มช่วงกลางเท้าขาดหายไปเลยก็ได้ (แสดงว่าฝ่าเท้าช่วงกลางเท้าเรารอยสูงจากพื้นมาก จึงปั้มแล้วไม่ค่อยติด )

            3.Flat Arch

          รอยปั้มเท้าเราที่เราเห็นบนกระดาษ  จะไม่มีคอคอดบริเวณกลางเท้า ความกว้างของช่วงกลางเท้าจะมากขึ้นเมื่อเทียบกับส้นเท้า (แสดงว่า เราเท้าแบน ฝ่าเท้าช่วงกลางเท้าแนบติดกับพื้น)  

            4.Medium Arch

ในเวบไซท์ของ asics จะมีรูปเท้าอีกลักษณะซอยย่อยออกมา  ซึ่งเป็นรอยเท้าที่อยู่ระหว่าง Normal กับ High Arch กล่าวคือบริเวณกลางเท้ามีคอคอดมากกว่า Normal Arch แต่น้อยกว่า High Arch

ความแตกต่างของรูปเท้า ซึ่งตรงบริเวณที่แตกต่างกันจริงๆ คือรอยปั้มช่วงกลางฝ่าเท้าหรือที่เรียกว่า Midfoot จะทำให้นักวิ่งมีแนวโน้มในการวิ่งตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน  ซึ่งความแตกต่างกันตรงนี้อยู่ที่เรื่อง Pronation

 

Pronation

คำว่า Pronation เป็นกลไกการหมุนของเท้าเราหลังจากเท้าแตะพื้น โดยจะมีการหมุนในลักษณะจากข้างเท้าด้านนอกวนข้างเข้าหาด้านใน  ซึ่งเจ้ากลไกที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เพื่อลดแรงกระแทกขณะวิ่งหรือขณะเดินก็ตาม หากไม่มีการหมุนเลย แรงกระแทกนี้ก็จะถูกส่งตรงเข้าหาข้อต่อต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดอาการบาดเจ็บระหว่างวิ่งได้ กลไกนี้จะเป็นสัญชาติญานที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ คล้ายๆ เวลาที่เรากระโดดจากที่สูง เราก็ต้องย่อตัว งอเข่า เพื่อลดแรงกระแทก

ซึ่ง Pronation หรือการหมุนของเท้านั้น จะเกิดขึ้นเสมอในระดับที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับลักษณะของเท้าเรา เทคนิคการวิ่ง หรือการถูกเทรนเรื่องการวิ่ง   

Underpronator (Supinator)  การหมุนของเท้าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ซึ่งลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีเท้าแบบ High  Arch ลักษณะนี้จะทำให้กลไกการรับแรงกระแทกในการวิ่งจะน้อยมาก การลงเท้าระหว่างวิ่งจะมีแรงกระแทกเกิดขึ้นมาก ซึ่งรองเท้าที่เหมาะจะเป็นลักษณะ Cushion เยอะๆ รองเท้าที่มีระบบรองรับแรงกระแทกดีๆ ถ้าเป็นรองเท้าวิ่งของ asics ก็พวกรุ่น Gel-Nimbus 17 , Gel-Comulus 17 เป็นต้น

Neutral  การหมุนของเท้าจะอยู่ในระดับที่พอดีๆ ซึ่งลักษณะนี้มักเกิดกับคนที่มีเท้าแบบ Medium ซึ่งคนที่มีการวิ่งลักษณะนี้หรือมีเท้าลักษณะนี้สามารถใส่รองเท้าลักษณะใดก็ได้

Overpronator  การหมุนของเท้ามากเกินไปเล็กน้อย จะมีแรงบิดเกิดขึ้นระหว่างการวิ่ง ทำให้ข้อต่อต่างๆ ได้รับการบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีเท้าแบบ  Normal Arch ซึ่งรองเท้าที่เหมาะจะเป็นรุ่นที่เน้น Stability เป็นรองเท้าที่ออกแบบควบคุมไม่ให้เท้ามีการบิดเข้าด้านในระหว่างการวิ่ง เช่น รุ่น GEL-Kayano 21 , GT-2000 3 , GT-1000 3 เป็นต้น

Severe Overpronator การหมุนของเท้ามากจนเกินไป จะมีแรงบิดเกิดขึ้นมากระหว่างการวิ่ง ทำให้มีแรงบิดเกิดขึ้นที่ข้อต่อต่างๆ มาก เสี่ยงต่อการบาดเจ็บข้อต่อต่างๆ ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่มีเท้าแบบ  Flat Arch ซึ่งรองเท้าที่เหมาะจะเป็นรุ่นที่มีระบบ Motion Control ออกแบบให้มีการควบคุม จำกัดไม่ให้เกิดการหมุนของเท้ามากเกินไป เช่น รุ่น GEL-Foundation 11 เป็นต้น

    อย่างที่บอกไว้ว่าการหมุนของเท้าเกิดขึ้นจากลักษณะเท้าโดยธรรมชาติของเรา และการเทรนนิ่งการวิ่ง  ซึ่งทาง asics ให้ความรู้มาว่า ไม่จำเป็นที่เท้าเราเป็นแบบไหน จะมีลักษณะการวิ่งเป็นแบบนั้น หากนักวิ่งถูกฝึกฝนและวิ่งในท่าวิ่งที่ถูกต้อง ลักษณะการหมุนของเท้าก็แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งการฝึกเพิ่มจำนวนก้าวในการวิ่งให้ถี่ขึ้น อยู่ในระดับ 180 ก้าวต่อนาที สำหรับนักวิ่งที่มีการหมุนเท้าเยอะเกินไป ก็จะช่วยลดการหมุนของเท้าให้น้อยลง เพราะเมื่อเท้าเราแช่อยู่ที่พื้นในเวลาน้อยลง การหมุนของเท้ามากเกินไปก็จะเกิดขึ้นได้ยากเป็นต้น

ซึ่งที่ร้าน asics ชั้น 2 ที่เมกา บางนา มีเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทั้งหมดสามารถบอกได้ว่า คุณมีเท้าแบบไหนและวิ่งแบบไหน
 

ระบบนี้เรียกว่า FOOT ID System ซึ่งเจ้า FOOT ID System นี้ มีทั้งระบบวิเคราะห์แบบ Static และ แบบ Dynamic

The Static FOOT ID System จะใช้เทคโนโลยี 3-D Foot Scanning ในเครื่องนี้จะประกอบไปด้วย กล้อง 8 ตัว และ เลเซอร์ 4 ตัว สำหรับวัดและขึ้นรูปเท้าของเราเป็นรูป 3 มิติ ซึ่งมันจะสามารถวัดเท้าของเราและแสดงค่าออกมาได้ถึง 7 ค่า ตั้งแต่

Foot Length ความยาวเท้า ช่วงที่ยาวที่สุด

Ball Girth โดยการวัดความยาวตามเส้นโค้งรอบเท้า ช่วงกระดูกตรงปลายเท้าที่กว้างที่สุด บริเวณด้านล่างนิ้วเท้าเล็กน้อย ถ้ามีการวัด 2 ครั้ง ค่าที่มากที่สุด จะเป็นค่าที่ถูกต้องที่สุด  สามารถบอกปริมาตรของช่วงปลายเท้าด้านหน้า เพื่อเลือกหน้ากว้างของรองเท้าให้เหมาะสม

Heel Width บอกความกว้างของส้นเท้า

Instep Height ความสูงของเท้าช่วงกลางเท้า

Arch Height  วัดความสูงของกระดูกชิ้นที่เรียกว่า Navicular Bone เป็นกระดูกชิ้นเล็กๆ ที่อยู่เฉียงจากตาตุ่มด้านในไปทางปลายเท้า อยู่ประมาณ 2 ความกว้างนิ้วมือจากตาตุ่มไปทางปลายเท้า เป็นค่าที่มีส่วนในการวิเคราะห์ความโค้ง (Arch) ของเท้าเรา

The Heel Angle มุมของส้นเท้า บอกถึงความตรง ความโก่งของขา ซึ่งส่งผลกับท่วงท่าการวิ่งตามธรรมชาติ

Toe Angle มุมของนิ้วโป้งเรา ที่กางออกหรือหุบเข้าด้านใน

The Dynamic FOOT ID System เป็นระบบวิเคราะห์การวิ่งจริงๆ ว่ามีลักษณะการวิ่งลงเท้าแบบไหน หมุนแบบไหน มากไป พอดี น้อยไป ตำแหน่งที่เท้าลงพื้น จำนวนก้าวต่อนาที ซึ่งการทดสอบนี้ จะให้ผู้ทดสอบใส่รองเท้าวิ่งที่ไม่มีระบบการป้องกันแรงกระแทกใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในแนวดิ่ง ด้านข้าง ซึ่งนักวิ่งจะวิ่งให้เห็นธาตุแท้ของวิธีการวิ่งของตัวเองอย่างแท้จริง ที่สำคัญการทดสอบนี้ จะเห็นการหมุนของเท้าผู้วิ่งอย่างแท้จริง เพื่อเลือกชนิดของรองเท้าให้เหมาะกับนักวิ่งอย่างแท้จริง เพราะหลายครั้ง การหมุนของเท้าที่เราประเมินจากลักษณะของเท้าที่ได้จาก การปั้มเท้า Wet Test  อาจไม่ได้เป็นไปตามนั้นสักทีเดียว โดยเฉพาะนักวิ่งที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เช่นคนที่เท้าเป็นแบบ Flat Arch อาจสามารถวิ่งแบบ Neutral ก็ได้ หรือคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนการวิ่งจริงจัง แม้ว่าจะมีเท้าแบบ Normal Arch อาจวิ่งแบบ Severe Overpronator ก็เป็นไปได้

            ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวอย่างย่อๆ ของเทคโนโลยีที่สามารถทดสอบและกำหนดรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมกับนักวิ่งมากที่สุด หากท่านใดที่มีปัญหาเรื่องรองเท้าวิ่ง หรือท่านที่มีอาการบาดเจ็บจากการวิ่งอยู่เป็นประจำ ลองแวะเวียนไปรับคำปรึกษาที่ร้านนี้ดูครับ แล้วท่านจะได้ความรู้ดีๆ เพิ่มเติมอีกมากมายครับ

            สำคัญที่สุดนะครับ ขอทิ้งท้ายไว้ ซื้อรองเท้าครั้งต่อไป ลองถามเท้าคุณดูสักนิด ชีวิตการวิ่งจะดี๊ดี

 

 

เฉลิมวงศ์ บวรกีรติขจร

Chalermwong B.Kajorn

ผู้ดำเนินรายการตอบคำถามอุปกรณ์กอล์ฟ คลื่น FM99 รายการ Golf Trick ทุกวันศุกร์ เวลา 9:00-10:00 น.

1 / 7 /2559

https://www.facebook.com/GolferOnlineMag/

Official Line : @golferonline

 Tags : Shoe , Shoes , Footwear , Footwears รองเท้า          




SOCIAL SHARES

หากบทความนี้มีประโยชน์กับท่านหรือเพื่อนร่วมก๊วน ฝากกดแชร์ที่เครื่องหมาย F ด้านใต้ข้อความนี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของเรา


COMMENTS

OUR SPONSOR

OUR PARTNERS
  • partner 1
  • partner 2
  • partner 3
  • partner 4
  • partner 5
  • partner 6
  • partner 7
  • partner 8